ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 28, 2015 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (LH BANK) ที่ระดับ “A-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “BBB" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงความสำเร็จของธนาคารในการกระจายพอร์ตสินเชื่อไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการมีพอร์ตสินเชื่อที่ยังมีคุณภาพดีแม้จะเสื่อมถอยลงไปบ้าง และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างเล็กทั้งในธุรกิจสินเชื่อและเงินรับฝาก ตลอดจนการพึ่งพาสินเชื่อขนาดใหญ่ การพึ่งพาแหล่งรายได้จากดอกเบี้ยเป็นหลัก รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

อันดับเครดิต “BBB" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังและรักษาระดับกำไรไว้ได้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะดำรงเงินกองทุนส่วนเกินไว้เพียงพอต่อความเสียหายที่เกินกว่าคาดการณ์ และสามารถรักษาแหล่งเงินทุนที่มั่นคงไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากการเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อเป็นสาเหตุให้ธนาคารมีต้นทุนด้านเครดิตสูงขึ้นหรือมีเงินกองทุนส่วนเกินลดลงอย่างมาก ในทางตรงข้าม สถานะเครดิตในทางบวกถูกจำกัดในระยะเวลาอันใกล้นี้ เว้นแต่สถานะทางการตลาดและเงินกองทุนของธนาคารดีขึ้นอย่างมาก

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเองในกลุ่ม LH BANK ณ เดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 13 จากธนาคารพาณิชย์ไทย 17 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.2% และเงินรับฝากที่ 1.1% ธนาคารได้ทำการขยายสาขาเพื่อเสริมช่องทางการให้บริการแก่ลูกค้าและรองรับการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ของธนาคารยังได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องด้วย

พอร์ตสินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 27% จากปี 2553 ถึงปี 2557 สินเชื่อและดอกเบี้ยคงค้าง ณ เดือนมิถุนายน 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 127.6 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 18% จากเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเน้นขยายสินเชื่อธุรกิจมากขึ้นภายหลังการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อขนาดใหญ่ส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม พอร์ตสินเชื่อของธนาคารในปัจจุบันได้มีการกระจายตัวไปในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คุณภาพสินเชื่อของธนาคารเสื่อมถอยลงโดยสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการลดปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพลงโดยการตัดเป็นหนี้สูญและขายหนี้ด้อยคุณภาพไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านบาท เทียบกับ 2.4 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมสินเชื่อระหว่างธนาคาร) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.2% ณ เดือนมิถุนายน 2558 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณเงินสำรองของธนาคารสำหรับรองรับความเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2558 ปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร คิดเป็น 183% ของสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของทางการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 164% ณ เดือนธันวาคม 2557

ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเสื่อมถอยลงประกอบกับธนาคารต้องการมีสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินได้ดีเนื่องจากมีเงินรับฝากจากรายย่อยเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการขยายเครือข่ายสาขา ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นทีละน้อยตั้งแต่ปี 2555 แต่ยังคงเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2557 จำนวน 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และกำไรสำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2558 ยังเพิ่มขึ้นถึง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกำไรที่ดีขึ้นนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีสัดส่วนของกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนต่อกำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ดังนั้นจึงอาจส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารมีความผันผวนได้มากกว่าธนาคารอื่น

ธนาคารมีระดับของการก่อหนี้ (Financial Leverage) เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงมาอยู่ที่ 8.2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ใน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ธนาคารได้เพิ่มเงินกองทุนตามกฎหมายโดยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง 10.04% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 14.04% ณ เดือนมิถุนายน 2558 โดยอัตราส่วนทั้งสองอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังคงน้อยกว่าระดับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ