สำหรับการลงทุนโรงงาน BSA เพื่อให้เหมาะสมกับการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ควรอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเป็นหลัก 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ตอนนี้บริษัทร่วมทุนเขากำลังโฟกัสให้ความสำคัญที่ปลายน้ำก่อน...BSA ก็เหมือนต้นน้ำของ PBS ที่นำเอา BSA มาเป็นวัตถุดิบ ปัจจุบันเรานำเข้า BSA เข้ามาผลิต เมื่อใดที่ผลิต BSA ในประเทศได้ เราก็จะเริ่มใช้น้ำตาลดิบในประเทศ และ integrate จากอ้อยได้ นอกจากนี้ BSA ยังทำมาจากข้าวโพดได้ด้วย ตรงนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา"นายชวลิต กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปี 54 ปตท.ได้ประกาศแผนร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด เพื่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากน้ำตาลรายแรกของโลก ณ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง โดยโรงงานมีกำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปี ซึ่งตามแผนเดิมโรงงานดังกล่าวจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 57
นายชวลิต กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงาน PBS อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการผลิตจะได้กำลังการผลิตตามที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่ และอยู่ระหว่างยื่นขอใบรับรองมาตรฐานทั้งจากสหรัฐ และยุโรป เพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต ซึ่งตลาดส่งออกจะเป็นตลาดหลักของโรงงาน PBS ในระยะแรก เพราะคาดว่าความต้องการใช้ภายในประเทศจะยังมีไม่มากนัก ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำทำให้มีความกังวลต่อความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายดังกล่าว แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศควรจะต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต
สำหรับการผลิต PBS ในขณะนี้ยังไม่ได้มีส่วนของการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นการนำเข้า BSA และ Butanediol เข้ามาเป็นสารตั้งต้นในการผลิต ขณะที่วัตถุดิบทางการเกษตรอย่างอ้อย จะถูกใช้ในกระบวนการของผลิต BSA ซึ่งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ ประเภท PLA ของกลุ่ม PTT ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอทาง NatureWorks พิจารณาเข้ามาลงทุน PLA ในไทย และรอการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งในรูปแบบของภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น ล่าสุดได้ทราบว่าทางเพียวแรค ก็ให้ความสนใจจะลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA เช่นเดียวกันด้วย