นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า การนำผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติก จำนวน 40 บริษัท ลงพื้นที่สำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุน มีความพร้อมทางด้านแรงงาน สามารถจัดตั้งเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจพลาสติก เพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจไปยังเมืองย่างกุ้ง และเมืองเมาะละแหม่ง ตลาดใหญ่ของเมียนมาร์
โดยเมียนมาร์นั้นมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประแทศ(GDP) เฉลี่ย 8% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยเศรษฐกิจโลก มูลค่าการนำเข้าพลาสติกของเมียนมาร์ที่มีการบันทึกไว้ ประมาณ 175,000 ตัน/ปี แต่เชื่อว่ามูลค่าจริงอาจจะสูงกว่านั้น 2-3 เท่า ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย จากการสำรวจพื้นที่ ผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติกมีความเห็นว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ต้องมีความชัดเจนเรื่องความเสถียรของไฟฟ้า ความสะดวกในเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามแดน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐ
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ร่วมกันผลักดันในเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขหัวข้อประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากเดิม “กิจการผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม" ให้เป็น “กิจการผลิตพลาสติก" เพื่อสอดคล้องกับความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไปของประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกไทยที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนอย่างเต็มที่
เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอของจังหวัดตาก ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด โดยอำเภอแม่สอดมีจุดผ่านด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี และ สามารถเดินทางโดยถนนเชื่อมต่อผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 1 เชื่อมโยงไปยังเมืองย่างกุ้ง ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมียนมาร์ ด้วยระยะทางเพียง 455 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นเขตเศรษฐกิจนำร่องของกลุ่มพลาสติก