สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (24 - 28 สิงหาคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 409,937.32 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 81,987.46 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 282,761 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 88,772 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 9,609 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 3.8 ปี) LB21DA (อายุ 6.3 ปี) และ LB206A (อายุ 4.8 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 32,270 ล้านบาท 14,268 ล้านบาท และ 11,477 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด รุ่น BAM17DA (AA-(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 516 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) รุ่น GLOW218A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 504 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) รุ่น BANPU247A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 426 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยซึ่งเป็นการสนองตอบต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของโลกที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3 bps อยู่ที่ระดับ 1.44-1.48% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวอายุ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6-15 bps อยู่ที่ระดับ 1.64-3.70% ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่สำคัญในประเทศ ได้แก่ การประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ที่มีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ธปท. ได้ประกาศแผนผ่อนคลายให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวกลางซึ่งจะเริ่มในปี 2559 เพื่อสนับสนุนให้คนไทยกระจายความเสี่ยงการลงทุน จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ในส่วนของเหตุการณ์สำคัญต่างประเทศ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 3.7% สูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.3% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเฟดจะติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด รวมถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% และสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 0.50% สู่ 18.0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สัปดาห์ที่ผ่านมา (24 ส.ค. - 28 ส.ค. 58) เงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยลดลงสุทธิ 16,349 ล้านบาท โดยมีการลงทุนลดลงในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) ประมาณ 14,418 ล้านบาท และลดลงในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ประมาณ 1,931 ล้านบาท
หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย สัปดาห์นี้ สัปดาห์ก่อนหน้า เปลี่ยนแปลง สะสมตั้งแต่ต้นปี (24 - 28 ส.ค. 58) (17 - 21 ส.ค. 58) (%) (1 ม.ค. - 28 ส.ค. 58) มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท) 409,937.32 381,111.62 7.56% 13,287,953.39 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท) 81,987.46 76,222.32 7.56% 84,100.97 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index) 107.85 108.35 -0.46% ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index) 107.73 108.05 -0.30% เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --% ช่วงอายุของตราสารหนี้ 1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี สัปดาห์นี้ (28 ส.ค. 58) 1.44 1.46 1.48 1.74 2.21 2.81 3.3 3.76 สัปดาห์ก่อนหน้า (21 ส.ค. 58) 1.43 1.44 1.45 1.64 2.13 2.66 3.19 3.7 เปลี่ยนแปลง (basis point) 1 2 3 10 8 15 11 6