กองทุน KF-HEALTHD และ กองทุน KF-HJAPAND ถือเป็นกองทุนดาวเด่นมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD) มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก JP Morgan Global Healthcare Fund โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยต่อรอบปีบัญชี โดยทีมผู้จัดการกองทุนมีความชำนาญในการเลือกหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ เน้นลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ยา เทคนิคการแพทย์ และบริการทางการแพทย์ขนาดใหญ่ทั่วโลกที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีแนวโน้มของผลประกอบการที่ดี
ทั้งนี้ ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในเดือนสิงหาคม ปี 2557 จนถึงปัจจุบันกองทุน KF-HEALTHD มีการประกาศจ่ายเงินปันผลจำนวนรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง มูลค่ารวม 2.50 บาท/หน่วยลงทุน
นอกจากนี้ กองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนเฮดจ์ปันผล (KF-HJAPAND) ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก Eastspring Investments-Japan Dynamic Fund โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยต่อรอบปีบัญชี ถือเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่ได้รับการตอบรับที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยตั้งแต่ต้นปี 2558 กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 เปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 อีกทั้งEastspring Investments ยังเป็น 1 ในผู้จัดการกองทุนต่างชาติเพียงไม่กี่รายที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการเงินลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (Eastspring Investments, 31 ก.ค. 58) ทั้งนี้ ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน กองทุน KF-HJAPAND มีการประกาศจ่ายเงินปันผลจำนวนรวมทั้งสิ้น 2 ครั้ง มูลค่ารวม 1.00 บาท/หน่วย
กองทุน KF-HEALTHD และกองทุน KF-HJAPAND ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและเหมาะที่จะมีไว้เป็นหนึ่งในกองทุนหลักของพอร์ตการลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยบวกต่างๆที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเฮลท์แคร์และตลาดหุ้นญี่ปุ่นหลายประการ อาทิ การที่หลายๆประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวิวัฒนาการทางการแพทย์กำลังมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้กองทุน KF-HEALTHD มีผลประกอบการดีในระยะยาว
ทางด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในปี 2558 โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ยอดส่งออกของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดรวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะการจ้างงานและการบริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่นได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะยาวอย่างยั่งยืน