เลขากสทช.เตรียมเสนอบอร์ดกสท.ปรับ MCOT ฐานโครงข่ายดิจิตอลทีวีล่มวานนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 11, 2015 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบพบว่าการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลของบมจ. อสมท (MCOT) ในพื้นที่ให้บริการสถานีกรุงเทพขัดข้อง เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ทำให้ไม่สามารถให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินที่ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถดูรายการของช่องทีวีดิจิตอลที่ใช้บริการโครงข่ายฯ MCOT

ช่องทีวีดิจิตอลที่ใช้บริการโครงข่ายฯ MCOT ซึ่งประกอบด้วย ช่อง 10 (ทีวีรัฐสภา) ช่อง 14 (MCOT Family) ช่อง 19 (Spring News) ช่อง 21 (Voice TV) ช่อง 30 (MCOT HD) และช่อง 32 (Thairath TV) ได้เช่นกัน ซึ่งสำนักงานจะทำหนังสือแจ้งให้ MCOT ดำเนินการแก้ไขข้อขัดข้องให้แล้วเสร็จในทันที พร้อมทั้งรายงานปัญหาและสาเหตุของปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีการพิจารณาการดำเนินการต่อกรณีเกิดข้อขัดข้องในการให้บริการโครงข่ายฯ (ครั้งที่ 25/2558 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2558) โดยมีความเห็นว่าผู้ให้บริการโครงข่ายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับชาติ ซึ่งกำหนดให้ต้องมีระยะเวลาที่สามารถให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์แก่ผู้ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรทัศน์แต่ละรายไม่น้อยกว่า ร้อยละ 99.98 ของเวลาออกอากาศทั้งหมดต่อปีต่อสถานีหลัก โดยเมื่อคำนวณระยะเวลาการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ตลอด 24 ชม. แล้วจะสามารถยอมรับการเกิดเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถให้บริการโครงข่ายได้ในแต่ละสถานีหลักไม่เกิน 1 ชั่วโมง 45 นาที ต่อปี ซึ่งข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นจากการให้บริการโครงข่ายฯ ของบมจ. อสมท (MCOT) ในครั้งนี้ จะทำให้เกินระยะเวลาที่สามารถยอมรับการเกิดเหตุขัดข้องได้และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตฯ

นอกจากนั้นสำนักงาน กสทช. ยังเห็นว่าการเกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้รับชมรายการทางทีวีดิจิตอลเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างร้ายแรง จึงอาจเป็นกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะนำกรณีดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กสท. เพื่อพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองต่อไป โดยสามารถปรับทางปกครองได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ