"หมอลี่"แนะประมูลคลื่น 900 MHz ภายหลังคลื่น 1800 ตามข้อเสนอครม. ปิดช่องฮั้วประมูล

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 11, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แสดงความเห็นว่า การกำหนดวันจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ห่างจากการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กัน เนื่องจากหากมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งสองในช่วงเวลาใกล้กันก็เท่ากับจะมีจำนวนใบอนุญาตรวมกัน 4 ใบอนุญาต คือคลื่นความถี่ย่านละ 2 ใบอนุญาต ก็จะทำให้เสี่ยงกับมีจำนวนคลื่นมากกว่าหรือเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา

ประกอบกับราคาเริ่มต้นที่กำหนดไว้นั้นก็กำหนดไว้ที่อัตราเพียงร้อยละ 80 ของราคาที่ประเมินได้เท่านั้น หากไม่เกิดการแข่งขันจึงย่อมจะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากการประมูลอย่างแน่นอน และที่สำคัญคือ การประมูลในเวลาใกล้เคียงกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมสมยอมหรือฮั้วประมูลกันได้ หากมีการตกลงแบ่งคลื่นความถี่กันในระหว่างผู้เข้าร่วมการประมูล

“ส่วนตัวผมยืนยันมาตลอดว่า การประมูลควรจัดในลักษณะ Multi-band Auction คือจัดประมูลคลื่นทั้งสองย่านพร้อมกัน แต่เมื่อไม่เลือกแนวทางนั้น ผมก็สนับสนุนให้จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ห่างกันสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อป้องกันการฮั้วราคา โดยการฮั้วกันหรือการตกลงกันจะเกิดขึ้นยากกว่า เพราะไม่มีผู้เข้าประมูลรายใดอยากได้คลื่นไปทีหลัง ซึ่งจะทำให้เสียเปรียบและอาจต้องเผชิญความเสี่ยงว่าการประมูลครั้งต่อไปจะประสบอุปสรรคจนสะดุดหยุดลงหรือไม่ อีกประการหนึ่งกำหนดวันประมูลของคลื่นย่าน 1800 MHz ขณะนี้กำหนดไว้แล้วเป็นวันที่ 11 พ.ย. 2558 ส่วนคลื่นย่าน 900 MHz ตามที่กำหนดไว้เดิมคือวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งมีการรายงานต่อคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไว้แล้วด้วย หากจะเปลี่ยนโดยพลการย่อมไม่สมควร" นายประวิทย์ กล่าว

นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า การจัดประมูลห่างกันน่าจะทำให้รัฐได้ประโยชน์จากการที่เอกชนสู้ราคาประมูลกัน ขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร นอกจากนี้ หากจัดประมูลห่างกัน ถ้าเกิดปัญหาทางเทคนิคหรือข้อติดขัดในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ก็จะมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขในการจัดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ได้ แต่ถ้าจัดติดต่อกันหรือห่างกันเพียงไม่กี่วัน ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ทัน และในส่วนลำดับการประมูลก็ควรเป็นไปตามลำดับการสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งคลื่นย่าน 1800 MHz สิ้นสุดก่อนย่าน 900 MHz ถึง 2 ปี และกระบวนการเตรียมการจัดประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz ก็เสร็จสิ้นก่อน จึงไม่มีเหตุผลใดที่เร่งให้คลื่นย่าน 900 MHz มีการประมูลก่อน

นพ.ประวิทย์ ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการสิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการของผู้ให้บริการรายเดิมในคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เนื่องจากว่าจนบัดนี้ยังไม่พบว่ามีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบเท่าที่ควร แม้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดจะมีการประกาศใช้มาตรการเยียวยาไประยะหนึ่ง แต่กระนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ใช้บริการต้องเร่งโอนย้ายออกจากระบบ ซึ่งแน่นอนว่าหากจัดประมูลเร็วขึ้นอีก 1 เดือน การดำเนินการดังกล่าวก็จะยิ่งยากลำบากขึ้น เนื่องจากในการที่ผู้ให้บริการจะยุติบริการ ตามกฎหมายกำหนดว่าจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz วันที่ 15 ธ.ค. 2558 ซึ่งจะเป็นการจัดภายหลังการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นเวลาเดือนเศษ โดยเหตุผลที่มีการกำหนดระยะเวลาการประมูลห่างจากกัน ก็เพื่อ จะทำให้มีการแข่งขันราคากันเต็มที่ ในขณะที่ถ้าจัดใกล้กันจะเหมือนการเสนอขายของในจำนวนที่มากกว่าคนซื้อ การแข่งขันก็จะไม่เกิด อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยแนะนำให้ประมูลทั้ง 2 ย่านคลื่นความถี่เร็วที่สุด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนวคิดที่จะจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กันจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประมูลวันเดียวกันโดยแบ่งเช้า-บ่าย ประมูลถัดจากกัน 1 วัน รวมไปถึงการมีแนวคิดที่ฉีกออกไปอีกว่า อาจจะจัดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ก่อนการจัดประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ