สำหรับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของไทยออยล์ได้รับการยอมรับจากผู้ประเมิน ดังนี้ “ไทยออยล์มุ่งมั่นดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนปี 2557-2561 ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน ดังเช่นแนวทางการปกป้องสิ่งแวดล้อม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม ซึ่งในปี 2557 ไทยออยล์ได้สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการเพิ่มการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล รวมทั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตกว่า 20 โครงการ และการเปลี่ยนหัวเผา-เชื้อเพลิงอุตสาหกรรมเป็นชนิดที่ปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนในระดับต่ำมาก นอกจากนี้ ไทยออยล์ถือว่าพนักงานเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จจึงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ความเป็นผู้นำ และการอบรมเป็นสำคัญ ทั้งยังมีการพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยในการส่งมอบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ไทยออยล์มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในปี 2557"
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ TOP กล่าวว่า บริษัทกำหนดนโยบายและเป้าหมายการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นความสมดุลทั้ง 3 ด้านคือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มด้วยความเป็นธรรมมาโดยตลอด ทำให้บริษัทได้รับการประเมินให้เป็นสมาชิกของ DJSI ในปี 2015 นี้ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้รับคะแนนประเมินสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Industry Group Leader)ต่อเนื่องเป็นปีที่สองอีกด้วย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ผลิตถ่านหินและเชื้อเพลิงพลังงาน (Coal & Consumable Fuels) ผู้ผลิตอุปกรณ์และให้บริการสำรวจและผลิตพลังงาน (Energy Equipment & Services) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas) และผู้ให้บริการคลังและขนส่งน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas Storage & Transportation)
"ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของไทยออยล์ มาจากความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการการกำกับกิจการองค์กรอย่างเป็นธรรม มีระบบ โปร่งใส ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงการประกาศใช้และเผยแพร่นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งมาตรการและแนวปฏิบัติผ่านคู่มือกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ ฉบับล่าสุดตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยรวมถึงการได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition against Corruption) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 และไทยออยล์ได้ขยายการกำกับดูแลกิจการตลอดสายโซ่อุปทานโดยการประกาศใช้แนวทางการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ทั้งนี้บริษัทยังได้นำการบริหารการจัดการความเสี่ยงมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกครบทุกมุมมองในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการ หรือ ESG อีกด้วย"นายอธิคม กล่าว
นายอธิคม กล่าวเพิ่มเติม ไทยออยล์ยังประสบความสำเร็จในการประเมินในมิติของสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยสามารถบริหารจัดการไม่ให้มีการหกรั่วไหลของน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญได้หลายปีติดต่อกัน สามารถบริหารจัดการด้านการควบคุมคุณภาพอากาศเละน้ำที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ได้ดีกว่ามาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ ทั้งนี้ยังรวมถึงการลงทุนในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตในปี 2557 โดยสามารถลดการใช้พลังงานกว่า 50 เมกะวัตต์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 600 ล้านบาทต่อปี และเป็นผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 88,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
"จากการได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานต่อเนื่องเป็นปีที่สองนั้น สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของไทยออยล์ต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มผ่านกรอบธรรมาภิบาลและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้กล่าวมาทั้งหมด"นายอธิคม กล่าว