การตั้งบริษัทลูกดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. )จะเปิดให้เอกชนยื่นเสนอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตรรวม 800 เมกะวัตต์ ซึ่งยูดับบลิวซี โซล่าร์ ได้เข้าไปให้ข้อมูลความรู้กับสหกรณ์ เกี่ยวกับประวัติ และความสามารถของบริษัท รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว กับสหกรณ์ทั้ง 9 แห่ง ซี่งเป็นสหกรณ์ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ โดยที่สหกรณ์ทั้ง 9 แห่งได้มีมติในการประชุมให้บริษัทเป็นผู้สนับสนุนในโครงการดังกล่าว โดยแต่ละโครงการจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ รวม 9 สหกรณ์ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์
โครงการดังกล่าวบริษัทจะจัดสรรส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับสหกรณ์ทุกแห่งที่บริษัทจะเข้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าด้วย ซี่งล่าสุด ยูดับบลิวซี โซล่าร์ ได้เตรียมพร้อมในการเข้าทำโครงการดังกล่าว เพื่อเตรียมยื่นเสนอเป็นผู้สนับสนุนในโครงการที่จะมีการเปิดให้เอกชนในเร็วๆนี้ โดยดำเนินการเข้าสำรวจพื้นที่สำหรับดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับสหกรณ์ทั้ง 9 แห่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจำนวนกว่า 600 ไร่ พบว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำโซล่าร์ฟาร์ม เมื่อประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินนี้มีประสิทธิภาพสูง โดยคาดว่าโครงการดังกล่าว จะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 12% และหากได้เข้าร่วมโครงการจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/59
"เราได้เตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการสร้างรายได้จากพลังงานเพิ่มเติมจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีแผนลงทุนอยู่แล้ว โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และดำเนินการร่วมกับสหกรณ์ที่มีศักยภาพ และผ่านเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ซึ่งเมื่อประกอบกับบริษัทฯมีความมั่นคงทางการเงิน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้มีความแข็งแกร่ง และทำให้สหกรณ์ทั้ง 9 แห่งยินดีที่จะให้เราเป็นผู้สนับสนุน และได้เริ่มสำรวจที่ดินตามที่สหกรณ์เป็นผู้จัดเตรียมไว้บ้างแล้ว"นายพีรทัศน์ กล่าว