ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม375,165.30 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 15, 2015 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (7 - 11 กันยายน 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 375,165.30 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 75,033.06 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 12% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 63% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 235,069 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 94,784 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 11,366 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 3.8 ปี) LB21DA (อายุ 6.3 ปี) และ LB176A (อายุ 1.8 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 23,407 ล้านบาท 16,038 ล้านบาท และ 15,770 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รุ่น DTAC167A (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 570 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด รุ่น DTN207A (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 519 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT175B (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 420 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวปรับตัวสูงขึ้น 0.11-0.21% สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวช่วงอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.21% จาก 2.85% ในสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 3.06% โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากความกังวลของการอ่อนค่าของเงินบาทที่เลยระดับ 36 บาทต่อดอลล่าร์ฯ และตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ทะยอยประกาศออกมาต่ำกว่าที่คาด รวมถึงตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีน ในเดือน ส.ค. ลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 9.39 หมื่นล้านเหรียญฯ เหลือ 3.56 ล้านล้านเหรียญฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ Emerging Market ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ในขณะที่เมื่อวันศุกร์ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้แถลงแผนการออกพันธบัตรในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 937,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมจำนวน 422,000 ล้านบาทและการกู้เงินใหม่จำนวน 515,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการซื้อขายตราสารหนี้มากนัก

สัปดาห์ที่ผ่านมา (07 ก.ย. - 11 ก.ย. 58) กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 8,413 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) ประมาณ 9,347 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ประมาณ 934 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                              สัปดาห์นี้           สัปดาห์ก่อนหน้า  เปลี่ยนแปลง            สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                 (7 - 11 ก.ย. 58) (31 ส.ค. - 4 ก.ย. 58)        (%)  (1 ม.ค. - 11 ก.ย. 58)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)        375,165.30            334,276.57     12.23%          13,997,395.25
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                           75,033.06             66,855.31     12.23%              83,317.83
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                106.94                107.76     -0.76%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                  107.45                107.71     -0.24%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                                    1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (11 ก.ย. 58)                                    1.45       1.49     1.5    1.86    2.37     3.06     3.42     3.82
สัปดาห์ก่อนหน้า (4 ก.ย. 58)                                1.44       1.47    1.48    1.75    2.21     2.85     3.29     3.77
เปลี่ยนแปลง (basis point)                                   1          2       2      11      16       21       13        5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ