นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ มีความล่าช้าด้านใบสัญญาซื้อขายไฟ ทำให้เลื่อนมาจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) เป็นไตรมาส 3/58 จากกำหนดเดิมในช่วงต้นปี แต่ความล่าช้าดังกล่าวจะส่งผลบวกในระยะยาว เพราะทำให้บริษัทได้รับค่าไฟฟ้าเป็นแบบ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิถึง 50% จากเดิมเป็นระบบ Adder มีอัตรากำไรสุทธิเพียง 30%
"คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/58 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้า ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ มีความล่าช้าเล็กน้อย แต่ก็มั่นใจว่ายังสามารถควบคุมผลประกอบการให้มีกำไรที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง"นายเชิดศักดิ์ กล่าว
ปีที่แล้ว TPCH มีกำไรสุทธิ 28.5 ล้านบาท และมีรายได้รวม 258.26 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกปีนี้มีกำไรุสทธิ 6.9 ล้านบาท และมีรายได้รวม 121.21 ล้านบาท
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า รายได้และกำไรสุทธิปี 59 จะเติบโต 3 เท่าตัวตามเป้าหมาย เพราะจะรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ จากปีนี้ที่มี 30 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งมั่นใจว่าบริษัทยังคงเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ได้ 200 เมกะวัตต์ภายในปี 63 ตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ปัจจุบันมี PPA ในมือแล้ว 80 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการยื่นขออีก 20 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้จะมี PPA ในมือรวม 100 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์และความชำนาญในการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีการวางกลยุทธ์บริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานในระยะยาวอีกด้วย
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้แล้ว 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) กำลังการผลิตเสนอขายจำนวน 9.2 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีอีก 5 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP),โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG),โรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีกำลังการผลิตเสนอขายรวมเพิ่มขึ้นอีก 43.6 เมกะวัตต์ และรายได้จากทั้ง 5 โครงการ ยังได้รับการสนับสนุนราคารับซื้อค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแบบ FiT ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการลดลงจากอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน (PTG) กำลังการผลิตเสนอขาย 42 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 21 เมกะวัตต์ ซึ่งในเฟสแรก ได้รับใบตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียบร้อยแล้ว ส่วนเฟส 2 กำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต
ทั้งนี้ TPCH มีบริษัทย่อยด้วยกัน 7 บริษัท มีแผนสำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิตทั้งหมด 106 เมกะวัตต์ ที่อยู่ในมือ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าแล้วมีกำลังการผลิตจำนวน 10 เมกะวัตต์ คือโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ ,อยู่ระหว่างขั้นตอนของการก่อสร้างมีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตมีกำลังการผลิต 46 เมกะวัตต์
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 83 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นระบบ Adder 33 เมกะวัตต์ ได้แก่ CRB และ PTG (เฟส 1) และ ระบบ Feed in Tariff (FiT) 50 เมกะวัตต์ ได้แก่ MWE, MGP, TSG, PGP และ SGP ซึ่งกำไรสุทธิที่ได้รับจาก FiT จะสูงกว่าระบบ Adder เติบโตขึ้นถึง 45-60% ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิสำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้รับระบบ FiT จะมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 45-50% ถือว่าบริษัทเติบโตได้ค่อนข้างจะเร็วมาก เพราะจากเดิมมี 10 เมกะวัตต์ แต่ตอนนี้มี 106 เมกะวัตต์ เติบโต 10 เท่า อีก 3 ปี ภาพของ TPCH ก็จะเติบโตทั้งรายได้และกำไร โดยเป็นการเติบโตที่มั่นคงแน่นอน เพราะบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แน่นอนแล้ว
ส่วนโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปีนี้ก็คาดว่าจะมี MWE และ MGP เพราะทั้งสองโครงการมีความคืบหน้าในการก่อสร้างเกินกว่า 90% แล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต