บลจ.กรุงไทย ขาย 2 กองทุนตราสารหนี้เพิ่มทางเลือกช่วงหุ้นผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 16, 2015 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดจำหน่าย 2 กองทุนตราสารหนี้ เพื่อเป็นทางเลือกในช่วงที่ภาวะหุ้นมีความผันผวน แกว่งตัวอยู่ในช่วงแคบๆ ซึ่งโอกาสที่ดีสำหรับการพักเงินไว้ในกองทุนประเภทตราสารหนี้ ประเภทกำหนดระยะเวลา ซึ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคารและเป็นกองทุนที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า สามารถขายได้เต็มมูลค่าโครงการอย่างต่อเนื่อง และปิดขายก่อนระยะเวลาที่กำหนด

กองทุนตราสารหนี้ที่เปิดจำหน่ายได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ เอ็นแฮนซ์ 32 ( KTFFE32 ) อายุ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดขายระหว่างวันที่ 15-22 ก.ย.นี้ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท Medium Term Note (MTN) ที่ออกโดย Banco Latinoamericano de Comercio Exterior , S.A. , MTN ที่ออกโดย Industrial and Commercial Bank of CHINA (Asia ) Ltd. , MTN ที่ออกโดย Standard Bank of South Africa , เงินฝากประจำ Bank of China (Macau ) , เงินฝากประจำ Turkiye Garanti Bankasi A.S. , เงินฝากประจำ Yapi Kradi Bankasi ผลตอบแทนประมาณ 1.85% ต่อปี

และการเปิดจำหน่ายรอบใหม่(Roll Over)ของกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอินเวส 6 เดือน 6 ( KTSIV6M6 ) เสนอขายถึงวันที่ 18 ก.ย.นี้ เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภท ตราสารหนี้ภาคเอกชน บมจ.เอเชียเสริมกิจลีสชิ่ง บมจ.บัตรกรุงไทย บมจ.เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น บจ.หลักทรัพย์ เคทีซีมิโก้ และบมจ.ราชธานีลิสชิ่งในสัดส่วน 87% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝาก ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ผลตอบแท็นนประมาณ 1.50% ต่อปี

อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามแรงขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดความเสี่ยงจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจทำให้ประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวตามและทำให้ค่าเงินมีการอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ถึงแม้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศยังไม่เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนก็ตาม โดยในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิจำนวน 8,396 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ที่จะมีการประชุมในช่วงเวลาเดียวกันกับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามแรงขายเพื่อย้ายเม็ดเงินลงทุนกลับไปลงทุนในหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของกลุ่มประเทศยุโรป ( EU) ที่ดีกว่าคาด และจากตัวเลขตำแหน่งงานที่ว่างของสหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้น ก่อนจะปรับตัวลดลงบ้างในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์จากการที่ตลาดกลับมาคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนนี้หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ทรงตัวในเดือนสิงหาคมส่งสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 0.71% ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลง อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 bps. มาอยู่ที่ 1.51% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 bps.มาอยู่ที่ 2.19% ต่อปี

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นทิศทางเศรษฐกิจโลก และผลการประชุมเฟด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของช่วงเวลาที่เฟด จะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดและต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ