"ราคาที่ TUF จะรับประกันให้กับเกษตรกร ถือเป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนของเกษตรกร เช่น กุ้ง ขนาด 70 ตัว TUF กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 150 บาท/กก. หากราคาตลาด 180 บาท/กก.สูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรก็มีสิทธิที่จะขายในราคาตลาดให้กับผู้ซื้อรายไหนก็ได้ แต่หากราคากุ้งในตลาดต่ำกว่าราคาที่ 120 บาท/กก. TUF จะรับซื้อกุ้งไว้ที่ราคา 150 บาท/กก. ตามที่ประกันราคาขั้นต่ำให้กับเกษตรกร" นายฤทธิรงค์ กล่าว
สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการรับประกันราคาขั้นต่ำกุ้ง ต้องมีฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงอย่างถูกต้อง มีใบรับรองมาตรฐานการผลิตกุ้งทะเลให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถูกสุขลักษณะที่ดีของฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (GAP) โดยการตรวจสอบมาตรฐาน GAP หรือ CoC
ทั้งนี้ โครงการประกันราคากุ้งดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคากุ้งภายในประเทศลดลงต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรกรไม่มั่นใจที่จะลงลูกกุ้ง เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งหยุดเลี้ยงไปถึง 50% ของจำนวนผู้เลี้ยงกุ้งรวมทั้งประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม ซึ่งหากไม่มีมาตรการเข้ามาดูแลอาจส่งผลเชิงลบต่ออุตสาหกรรมกุ้งในอีก 3 – 4 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะคู่ค้าต่างประเทศอาจจะไม่กล้าซื้อสินค้าจากไทยเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีสินค้าตามที่ต้องการหรือไม่ ถ้ามีผู้ประกอบการกล้าที่จะรับประกันราคากุ้งในลักษณะนี้ทำให้ผู้เลี้ยงที่เข้าโครงการมีความมั่นใจมากขึ้นว่าลงกุ้งแล้วเพาะเลี้ยงไปจะมีผู้รับซื้อแน่นอน
"ข้อดีของโครงการนี้คือเกษตรกรเลี้ยงกุ้งแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน ถ้าราคาตลาดต่ำกว่าต้นทุนการผลิตก็มาขายให้เรา แต่ถ้าราคาตลาดสูงกว่าเกษตรกรจะไปขายในตลาดก็ได้"
อย่างไรก็ตาม จากปริมาณและราคารับประกันครั้งนี้ TUF มั่นใจว่าจะสามารถส่งออกไปทำตลาดได้แน่นอน โดยในส่วนของ TUF คาดว่าปริมาณการส่งออกกุ้งในครึ่งหลังของปีจะดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรกราว 10% เพราะเกษตรกรจะเลี้ยงกุ้งกันมากขึ้นทำให้มีผลผลิตส่งออกมากขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกอาจจะเท่าปีที่แล้วเพราะราคาที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯลดลง
สำหรับผลผลิตกุ้งโดยรวม หลังเปิดตัวโครงการประกันราคากุ้งคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มจากปีที่แล้วจาก 210,000 ตัน เป็น 250,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 20% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนแนวโน้มผลผลิตกุ้งในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 300,000 ตันเนื่องจากการแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วนเริ่มดีขึ้น
สำหรับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้ นายฤทธิรงค์ มองว่า ค่าบาทขณะนี้ถือว่าเหมาะสมเพราะใกล้เคียงกับภูมิภาค บาทอ่อน 9-10% มาเลเซียอ่อน 17-18% สิงคโปร์อ่อน 7% กว่า ไม่ส่งผลกระทบเรื่องอำนาจต่อรองทางการค้าลดลง
ส่วนเรื่อง Tier3 ยอมรับน่าเสียใจที่ไทยยังอยู่ Tier3 เป็นปีที่ 2 ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลและเอกชนไทยทำงานเยอะมากและทำต่อเนื่อง ถ้า To Be Fare เชื่อว่าน่าจะได้เลื่อนสถานะ และยืนยันว่ากระบวนการผลิตอาหารของกุ้งของไทย มาจากเรือประมงที่ถูกกฎหมาย 100%
"ปัญหาเรื่องประมงของเรามีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็นในรัฐบาลนี้ แต่การที่ EU ให้ใบเหลืองเราถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ปฏิวัติปฏิรูประบบการประมงอย่างยั่งยืน"นายฤทธิรงค์ กล่าว