นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาศัย กรรมการผู้จัดการ ของ GUNKUL มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 50% ตามเป้าที่ตั้งไว้ จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 3,330.83 ล้านบาท โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ จะเทียบเท่ากับผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่แล้วทั้งปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท และจะทยอยส่งมอบและให้บริการทั้งหมดในปีนี้ ขณะที่คาดว่าธุรกิจเทรดดิ้งที่ขยายตัวจะช่วยหนุนรายได้ในไตรมาส 3/58 มาอยู่ที่ราว 2.4-2.5 พันล้านบาท
ประกอบกับแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่ายังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการในอุตสาหกรรมระบบไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างแผนการศึกษาโครงการลงทุนของภาครัฐ มูลค่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานสายส่งไฟฟ้าบนดินประมาณ 1 แสนล้านบาท งานสถานีส่งไฟฟ้าใต้ดินมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยบริษัทหวังที่จะได้งานราว 20% ขณะเดียวกันบริษัทจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มสายส่งประเภทงาน 115 KV เข้ามา จากปัจจุนที่ขายเฉพาะ 22-24 KV ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณการใช้น้อยต่อโครงการ ซึ่งหากภาครัฐมีการลงทุนตามแผน บริษัทก็จะซื้อกิจการของพันธมิตรที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือบริษัท กันกุล กรุ๊พ จำกัด โดยปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 100 ล้านบาท และมีประวัติการรับงานก่อสร้างของภาครัฐ ในงานที่มีมูลค่าสูงหลายราย นอกจากนี้บริษัทยังเจรจากับพันธมิตรอีกหลายราย เพื่อร่วมกันไปรับงานโครงการต่างๆด้วย
"รายได้ของบริษัทในปีนี้จะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 50 % ตามเป้าและในปีหน้าจะเติบโตได้ประมาณ 10% ซึ่งในปี 59 บริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และในปี 61 จะมี EBITDA อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท เพราะบริษัทจะเริ่มมีสัดส่วนของพอร์ตธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ และรายได้ของบริษัทในช่วงปี 61 จะอยู่เพิ่มขึ้นมาที่ 7.83 พันล้านบาท เมื่อมีการรับรู้โครงการพลังงานทดแทนเข้ามาเกิน 500 เมกะวัตต์ตามแผน"นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า บริษัทยังคงแผนภายในปี 60-61 จะมีรายได้จากธุรกิจพลังงานประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมด โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 30 เมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และโครงการร่วมลงทุน 60 เมกะวัตต์ และภายในปีนี้จะมีโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ COD เพิ่มเป็น 57 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปีอยู่ที่ 147 เมกะวัตต์ โดยไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าที่เมียนมาร์อีก 13 เมกะวัตต์
สำหรับแผนการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าของญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ ในปี 59 จากปัจจุบันมีอยู่ 70 เมกะวัตต์นั้น บริษัทอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำเงินกู้โครงการ (Project Finance) ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในช่วงไตรมาส 4/58 นี้
ส่วนความพร้อมด้านการลงทุน ในโครงการต่างๆ บริษัทได้มีจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering:RO) มูลค่า 4 พันล้านบาทไว้ ซึ่งที่มีข่าวลือว่าบริษัทจะยกลิกการขายหุ้นเ RO ดังกล่าวนั้นขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งนอกจากการขายหุ้น RO แล้วบริษัทยังมีแผนจะออกหุ้นกู้มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท ดอกเบี้ยประมาณ 4% เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง ซึ่งเบื้องต้นจะออกก่อนประมาณ 200-300 ล้านบาทในเดือน ต.ค. เพื่อเป็นการทดสอบความต้องการของตลาดก่อน
ภายหลังจากการออก RO บริษัทจะมีสินทรัพย์อยู่ที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท และมีส่วนของทุนอยู่ที่ 8 พันล้านบาท ขณะที่มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.4 เท่า โดยตามนโยบายบริษัทจะมี D/E ไม่เกิน 2.5 เท่า ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถกู้ยืมได้ไม่น้อยกว่า 4 พันล้านบาทสำหรับการลงทุนในอนาคต
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับพันธมิตรภายในประเทศที่ประกอบกิจการด้านการค้าไม้ เพื่อร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ประเภทไบโอแมส กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ เพื่อยื่นขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐฯก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 223 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้รวมลดลง 29.39% มาที่ 1.19 พันล้านบาท เพราะผลกระทบจากกรณีลูกค้าได้รับอนุมัติใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า (PPA)ล่าช้า และภาครัฐมีการเลื่อนการประกาศการตอบรับการซื้อไฟฟ้าประเภทต่างๆ ออกไปจากเดิม ขณะที่รายได้จากการรับเหมาก่อสร้างลดลง เพราะรัฐบาลเลื่อนการประกาศการตอบรับการซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 80.4% จากการจำหน่ายอุปกรณ์งานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์ม ระบบสายส่งให้กับภาครัฐวิสาหกิจที่เป็นสินค้าประเภทกลุ่ม Hardware รวมถึงรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 30.93% เนื่องจากบริษัทได้รับสัญญาว่าจ้างให้ดูแลและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จากบริษัทร่วมและลูกค้าภายนอกเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทที่ควบคุมร่วมกัน เพิ่มขึ้น 12.31% เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จนสามารถจำหน่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วครบทุกโครงการ ซึ่งยังส่งผลให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยที่บริษัทได้ถือสัดส่วนเท่ากับ 26.16 เมกะวัตต์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 107.35% เนื่องจากบริษัทได้จัดหาแหล่งเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในบริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย สำหรับดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 60 เมกะวัตต์