สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน WHAPF ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งหากนับรวมการจ่ายเงินปันผลในครั้งนี้ด้วย กองทุน WHAPF มีการจ่ายเงินปันผลแล้ว 18 ครั้ง เป็นอัตรารวมทั้งสิ้น 3.2791 บาทต่อหน่วย โดยสามารถคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานในรอบบัญชีที่ผ่านมา (1 พ.ค.2558-31 ก.ค.2558) กองทุนยังคงมีรายได้อย่างสม่ำเสมอจากค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าและอาคารโรงงานต่างๆ โดยในปัจจุบันกองทุน WHAPF ถือครองทรัพย์สินในโครงการรวมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 17 โครงการ อาทิ โครงการคลังสินค้า Kao 1 , Kao 2 และ Kao 3, โครงการอาคารคลังสินค้า DKSH จำนวน 7 โครงการซึ่งตั้งอยู่ที่บางพลี บางปะอิน และบริเวณถนนบางนา-ตราด ก.ม.20, โครงการศูนย์กระจายสินค้า WHA Mega Logistics Center บนถนนบางนา-ตราด ก.ม.19 และโครงการศูนย์กระจายสินค้า WHA Mega Logistics Center บริเวณ อ.พานทอง จ.ชลบุรี, โครงการ DSG 1 และ 2 ในเขตประกอบการเหมราช จ.สระบุรี และยังมีโครงการโรงงานอีก 3 โครงการ คือ โครงการโรงงาน Primus และโครงการโรงงาน Ducati 1 และ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ. ระยอง
จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่อยู่ในภาวะชะลอตัวลง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ตัวเลขการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะติดลบ 1.7% รวมถึงผลกระทบเชิงลบจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตลดลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2558 ลดลงจากไตรมาสแรก 7.73% มาอยู่ที่ระดับ 155.5 และส่งผลให้อัตราการเช่าเฉลี่ยในเขตอุตสาหกรรม (Industrial Estates) อยู่ที่ระดับ 89%
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การลงทุนของกองทุน WHAPF นั้น ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยปัจจุบัน กองทุนยังมีอัตราการเช่าพื้นที่อยู่ประมาณ 97% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเช่าที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของกองทุนมีพื้นฐานที่มั่นคงทั้งทางด้านการเงินและผลการดำเนินงาน นอกจากนี้ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารกลุ่มธุรกิจของกองทุน ได้มีการปรับกลยุทธ์ด้วยการคงระดับค่าเช่าไว้ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและผลการดำเนินงานของกองทุนไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก ในช่วงเวลาที่ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่างชะลอตัวลง
นายเขมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม บลจ.กสิกรไทยยังมีมุมมองต่อการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในประเทศไทย ว่ายังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กองทุนยังคงสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอจากสัญญาเช่าระยะยาว โดยปัจจัยบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2558 สามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น จะมาจากการเร่งดำเนินมาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่างๆ อาทิ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่คาดว่าจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น