สำหรับแผน AEDP 2015 มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากปัจจุบันอยู่ที่ 11.9% เป็น 30% ของปริมาณความต้องการพลังงานรวมของประเทศในปี 2579 โดยปรับเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสิ้นประมาณ 19,635 เมกะวัตต์ โดยให้มีกรอบระยะเวลาเดียวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) รวมทั้งจะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลเป็น 14 ล้านลิตร/วัน และเอทานอล 11.3 ล้านลิตร/วัน เป็นต้น และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และรายงานความคืบหน้าการดำเนินต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทุก 3 เดือน
ส่วน Oil Plan 2015 นั้นที่ประชุมมีความเห็นชอบให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2558 - 2579 (Oil Plan 2015) ต่อ กบง. ทุก 3 เดือนเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้กำหนดทิศทางการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น การทยอยปรับลดประเภทน้ำมันเบนซินในระยะยาว ที่ควรมีเหลือไม่เกิน 3 ประเภท และใช้เป็นกรอบสำหรับการดำเนินนโยบายส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และ NGV สำหรับรถสาธารณะ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้ ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์จัดทำแผน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. สนับสนุนมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ภาคขนส่ง ผ่านมาตรการผสมผสาน 11 มาตรการ 2. บริหารจัดการชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้ ได้แก่ LPG ที่แม้จะไม่ห้ามใช้ในภาคขนส่งแต่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษในการส่งเสริม ในขณะที่ NGV จะเป็นการส่งเสริมเฉพาะกลุ่มรถสาธารณะและรถบรรทุก 3. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อเนื่อง โดยใช้กลไกตลาดเป็นสำคัญ 4. ผลักดันการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซลตามแผน AEDP 2015 และ 5. สนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ AEC ซึ่งคาดว่าจะไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่
ขณะที่ Gas Plan 2015 และหลักการการบริหารจัดการด้านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีการแข่งขันและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต โดยเพิ่มจำนวนผู้จัดหาและจำหน่าย การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจี (Third Party Access; TPA) และกำกับดูแลการจัดหา LNG ในระยะสั้น/ระยะยาว โดยมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันศึกษาและจัดทำแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ให้มีผู้ประกอบการในกิจการ LNG มากกว่าปัจจุบันที่มีเพียง ปตท. เพียงเจ้าเดียว และจัดทำแนวทางการกำกับดูแลด้านการจัดหา LNG ต่อไป เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้มีเพียงพอในอนาคต ซึ่งได้บูรณาการกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP 2015) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) และ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)
ทั้งนี้ ได้วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อรองรับต่อความต้องการ โดยสามารถจำกัดการนำเข้า LNG ในอนาคตให้อยู่ในระดับที่พอเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น คือ 1. กระจายความเสี่ยงโดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า 2. รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศให้ยาวนานขึ้น 3. จัดหาแหล่ง LNG ที่มีประสิทธิภาพภายใต้รูปแบบที่มีการแข่งขัน 4. มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ (ระบบท่อ และ LNG Terminal) และแนวทางด้านการแข่งขันทั้งทางกายภาพ (ทั้งโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือรับ LNG) และกติกาที่สอดรับกับแผนจัดหา (Third Party Access; TPA)
และเห็นชอบในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 ซึ่งแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งจากภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง โดยได้พิจารณาเห็นชอบโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 (Natural Gas Pipeline Network) วงเงินลงทุนรวม 110,100 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมติดตามแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้ทบทวนรายละเอียดการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน