ขณะที่ยอดหนี้รวมของ SSI ที่มีอยู่กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้รายใหญ่ 3 ราย มีมูลค่ารวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท , ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และธนาคารทิสโก้ ประมาณ 4.4 พันล้านบาท โดยแต่ละธนาคารได้ทำการกันสำรองเงินสินเชื่อที่ให้แก่ SSI จนครบถ้วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้ว
ส่วนการหยุดผลิตเหล็กแท่งแบน(slab) ของโรงถลุงเหล็กนั้น สืบเนื่องจาก SSI UK ประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงาน ทำให้ต้องหยุดผลิตเพื่อเจรจากับผู้มีส่วนได้เสียของ SSI UK เช่น รัฐบาลอังกฤษ คู่ค้า และสหภาพแรงงาน ซึ่งจากการเจรจาหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โอกาสที่การผลิตเหล็กจะเปิดดำเนินการได้อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการทำความตกลงกันระหหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และยังมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่จะส่งทำให้การเปิดดำเนินการโรงถลุงเหล็กของ SSI UK ยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้เงินกู้แก่ SSI UK ดังกล่าวจึงเรียกให้ SSI UK ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการกู้เงิน ซึ่งจากฐานะการเงินในปัจจุบันของ SSI UK ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ของ SSI UK จึงขอให้ SSI ร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้ดังกล่าว ในฐานะผู้ค้ำประกันของ SSI UK สำหรับหนี้วงเงินจำนวนประมาณ 790 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ SSI กำลังพิจารณาทางออกของโรงถลุงเหล็กดังกล่าว โดยอาจจะขายออกหรือปิดกิจการถาวร "สำหรับแนวทางออกของการแก้ปัญหาโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียในอังกฤษว่าจะมีแนวทางออกเป็นอย่างไร ก็มีทั้งขายกิจการไป และการปิดโรงงานอย่างถาวร ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้"นายวิน กล่าว นายวิน ยืนยันว่า การหยุดผลิต slab จากโรงถลุงเหล็กดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการผลิตเหล็กเกรดพิเศษ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products) ของบริษัท เพราะบริษัทมีเทคโนโลยีการผลิตเข้ามารองรับแล้วเพื่อให้คุณภาพใกล้เคียงกับวัตถุดิบที่ผลิตจากโรงถลุง ประกอบกับปัจจุบันเป็นตลาดของผู้ซื้อทำให้สามารถเลือกซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมได้ โดยยังคงสัดส่วนเป้าหมายเหล็กเกรดพิเศษในปีนี้ 40% และจะเพิ่มเป็น 60% ใน 3 ปีข้างหน้า
สำหรับปีนี้บริษัทคาดว่าจะมียอดขายเหล็กแผ่นรีดร้อนราว 1.4 ล้านตันเท่ากับปีก่อน ขณะที่แนวโน้มราคาเหล็กในปีนี้ลดลงจากปีก่อน 40% โดยราคาเหล็กแท่งแบน ปัจจุบันอยู่ที่ 270 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน อยู่ที่ 410-420 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับมีภาวะล้นตลาดของเหล็กจากจีน ทำให้มีการส่งออกมามาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาครัฐจะออกมาตรการเพื่อดูแลเหล็กแผ่นรีดร้อนตามมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาตรการดูแลเหล็กลวดมาแล้ว
ขณะที่การหยุดผลิตของโรงถลุงเหล็กดังกล่าวอาจทำให้บริษัทกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้ในปี 59 เพราะว่าจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการจากโรงถลุงเหล็ก ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กในประเทศมีโอกาสเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลมีนโยบายการลงทุนออกมาต่างๆอย่างชัดเจน ซึ่งจะสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงเหล็กให้เติบโตขึ้นด้วย
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง นอกจากเหนือจากการปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์เจ้าหนี้แล้ว บริษัทยังจะเจรจากับผู้ถือหุ้นญี่ปุ่น JFE Steel Corporation ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 3.5% ให้เข้ามาถือหุ้นเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการสรรหานักลงทุนที่สนใจเข้ามาถือหุ้นในบริษัทอีก ตามแผนการจะเสนอขายหุ้นเพิ่มให้นักลงทุนในวงจำกัด(PP) ไม่เกิน 1.6 หมื่นล้านหุ้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะขายได้ทันปีนี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องการเพิ่มทุนดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 1,777 ล้านบาท ณ สิ้นมิ.ย.58
SSI ได้ประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวที่โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กในอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. ระหว่างรอผลการหารือกับรัฐบาลอังกฤษและผู้มีส่วนได้เสียในการให้ความร่วมมือลดต้นทุนการผลิตและหยุดผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก โดยการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กเฉพาะส่วนของยอดขายที่จำหน่ายให้กับบุคคลภายนอก คิดเป็น 52% ของยอดขายรวมในช่วงครึ่งแรกปีนี้ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เนื่องจากยังมีวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนสำรองอยู่ และสามารถจัดซื้อวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนราคาถูกในตลาดได้
นอกจากนี้ การหยุดโรงงานที่อังกฤษมีเพียงเฉพาะในส่วนโรงถลุงเหล็กที่ไม่ทำกำไรเท่านั้น ขณะที่โรงไฟฟ้า และธุรกิจเดินเรือขนส่งยังคงมีการดำเนินงานตามปกติ และจะยังคงสร้างรายได้จากส่วนนี้ได้อยู่
ทั้งนี้ SSI ได้เข้าซื้อธุรกิจโรงถลุงเหล็ก (Upstream Business) ในอังกฤษเมื่อปี 54 แต่ยังต้องมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อให้กลับมาผลิตได้ ก่อนจะเริ่มดำเนินการผลิตเหล็กแท่งแบนได้ครั้งแรกในปี 55 พร้อมทั้งได้ลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันจากการปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาสินค้าใหม่ และผลิตเหล็กแท่งแบนที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ ส่งผลให้โรงถลุงมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เป็นบวกได้สำเร็จในครึ่งหลังของปี 57 ก่อนจะกลับมาเป็นลบในช่วงครึ่งแรกปีนี้จากราคาเหล็กแท่งแบนที่ลดลงมากกว่าต้นทุนที่ลดลงได้ของโรงถลุง