UWC จะถือหุ้นในโรงไฟฟ้าดังกล่าว 100% ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีอัต่ราขายไฟแบบมีส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่ 0.30 บาท/หน่วย รวมถึงโครงการนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ถึงปี 62 และชำระภาษีเงินได้ในอัตรา 50% หลังจากนั้นอีก 5 ปี
ทั้งนี้ บริษัทได้ศึกษาข้อมูลโรงไฟฟ้าดังกล่าวอย่างรอบด้าน ก่อนเข้าซื้อกิจการ และจะใช้ความชำนาญด้านวิศวกรรมพลังงานไปปรับปรุงโรงไฟฟ้า เพื่อให้สอดรับกับการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแบบผสมผสานที่บริษัทออกแบบ แทนการใช้แกลบ 100% ทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22% โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าโรงที่ 3 ที่บริษัทเข้าไปลงทุนต่อจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดขอนแก่น และบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถจะลงทุนโรงไฟฟ้าได้ครบ 50 เมกะวัตต์ภายในปีนี้
สำหรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าดังกล่าว บริษัทได้เตรียมการปลูกและจัดหาพืชพลังงานบนพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยจะสนับสนุนให้มีการปลูกพืชพลังงานทั้งต้นเนเปียร์ และไม้โตเร็ว ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่สร้างรายได้จากการปลูกพืชพลังงานอีกด้วย "เรามีความมั่นใจในการลงทุนครั้งนี้ และบริษัทจะเข้าบริหารจัดการและผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทันที ซึ่งจะเร็วกว่าการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี โครงการดังกล่าวบริษัทได้เข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้เชื้อเพลิงด้านชีวมวลได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการใช้เชื้อเพลิงจากแกลบเพียงอย่างเดียว และสามารถสร้างอัตราตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นได้ โดยคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) กว่า 22%"นายพีรทัศน์ กล่าว