บลจ.วรรณ ออกกองหุ้นยุโรปเป้า 8% ใน 8 เดือน เสนอขาย IPO 23–28 ก.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 23, 2015 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่ บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า บลจ.วรรณ เล็งเห็นโอกาสเข้าลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน หลังจากตลาดหุ้นในกลุ่มยูโรโซนเผชิญแรงขายมากเกินไป จึงเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ ยูโรเปี้ยน 8 ฟันด์ (ONE-EURO8) ระหว่างวันที่ 23 – 28 กันยายนนี้ มีเป้าหมายเลิกโครงการ 8% ภายใน 8 เดือน เน้นการลงทุนในภูมิภาคยุโรป โดยมีนโยบายลงทุนใน ETF เพื่อสร้างผลตอบแทนตามการปรับตัวของดัชนีในตลาดยุโรปและประเทศเยอรมันรวมถึงกระจายการลงทุนในหุ้นรายตัว (Stock Selection) ของบริษัทในประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของค่าเงินยูโร เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม

จุดเด่นของกองทุน คือ ปรับน้ำหนักการลงทุนแบบเชิงรุก(Active Fund) ให้รวดเร็วเหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุน ซึ่งสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดในช่วงนี้ผู้จัดการกองทุนจะให้น้ำหนักการลงทุนใน ETF Europe ในสัดส่วนประมาณ 50% ETF ในตลาดหุ้นเยอรมัน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ประมาณ 20% และกระจายการลงทุนในหุ้นรายตัวประมาณ 30% เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม

"เชื่อมั่นว่าระยะเวลา 8 เดือนจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะในปีนี้ตลาดยังต้องเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น กองทุน ONE-EURO8 จึงมีช่วงเวลาที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายได้"ดร.วินกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อได้ จากปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซน นำโดยเศรษฐกิจของประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศหลักในยูโรโซนที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคการส่งออกของประเทศเยอรมันที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม PIGS ซึ่งประกอบด้วย อิตาลี สเปน โปรตุเกสและกรีซได้มีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สะท้อนได้จากตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/58 ที่มีการปรับประมาณการณ์ครั้งที่ 2 ขยายตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประมาณการณ์ครั้งแรก

จากท่าทีการส่งสัญญาณของ ECB ที่จะยังคงใช้ QE ต่อไปและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และพร้อมจะอัดฉีดเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจของยูโรมีความจำเป็นต้องกระตุ้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจของยูโรโซนในช่วงนี้ โดยมาตรการต่างๆ จะเข้ามาเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจในยูโรโซน และเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะการทำ QE คือการเพิ่มสภาพคล่อง อีกทั้ง ค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงย่อมส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจภาคการส่งออก ในขณะที่ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซนั้น ผมมองว่า ปัจจัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นความกังวลไปแล้ว เพราะท้ายที่สุดรัฐบาลของประเทศกรีซจะต้องยอมรับเงื่อนไขเพื่อรับความช่วยเหลือจากประเทศเจ้าหนี้ต่อไป

สำหรับมุมมองการลงทุน ปัจจัยความกังวลต่างๆของยูโรโซนได้คลี่คลายลง อีกทั้ง ณ ระดับราคาหุ้นในปัจจุบันของกลุ่มประเทศยูโรโซน บริษัทมองว่า เป็นระดับที่น่าสนใจเข้าลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาระดับราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ของค่าเฉลี่ย MSCI Europe ซื้อขายในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในช่วงที่ ECB ได้ประกาศนโยบาย QE และเป็นระดับต่ำที่มีนัยสำคัญต่อความน่าสนใจเข้าลงทุนหรือประมาณ 20% เมื่อเทียบกับโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ