นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ SCI เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่ง SCI แล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา โดยบริษัทมีแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 187.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทภายหลัง IPO โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2558
"ธุรกิจในกลุ่มของ SCI ถือว่ามีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน...ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมและการควบคุมคุณภาพการผลิต จากพันธมิตร คือ AG Ajikawa Corporation (Japan) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท และมีโรงงานที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่า SCI จะเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่สร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจให้กับนักลงทุนในอนาคต"นายวิชากล่าว
SCI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ, ผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์ ภายใต้บริษัทย่อย, ธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูงและระบบจำหน่ายไฟฟ้า
นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท ตาดสเลน พาวเวอร์ จำกัด(TAD) ที่สปป.ลาว ทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาด 3.2 เมกะวัตต์ให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์(COD) เมื่อต้นปี 56 ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อขออนุมัติโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าสี่ตัวเมืองในเฟสที่ 2 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ท่าแขก สะหวันนะเขต และปากเซ หลังจากได้เข้าดำเนินโครงการในเฟสแรกไปแล้ว
ด้านนายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SCI กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ในลาว มูลค่าโครงการ 67 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการได้ประมาณไตรมาส 4/58 และลงทุนในโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในเมียนมาร์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งมีสัดส่วนลงทุนไม่น้อยกว่า 40% มูลค่าลงทุนทั้งหมด 26 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในปี 2559
"การขยายการลงทุนในลาวและเมียนมาร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายตลาดในเออีซี ที่เรามองว่าทั้งสองประเทศนี้มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ทั้งในส่วนของลาวที่มีเป้าหมายเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ขณะที่เมียนมาร์ ก็เพิ่งมีการเปิดประเทศ คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต"นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย ขนาด 45 เมกะวัตต์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่ากรลงทุนทั้งหมดราว 3.5-3.7 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มใช้เงินทุนราวในปี 2559
สำหรับผลการดำเนินงานของ SCI ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 55-57) บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับ 1,443.67 ล้านบาท 2,175.81 ล้านบาท และ 2,808.60 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตในปี 56 จำนวน 50.71% เมื่อเทียบกับปี 55 และคิดเป็นอัตราการเติบโตในปี 57 จำนวน 29.08% เมื่อเทียบกับปี 56 ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับปี 55-57 เท่ากับ 65.29 ล้านบาท 171.29 ล้านบาท และ 326.51 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 58 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน