"เชื่อว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นและครึ่งปีหลังจะต้องสดใส แน่นอน แม้จะขาดทุนในไตรมาส 1/58 แต่ก็ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากนี้คาดว่า QTC จะพลิกกลับมามีกำไรเพิ่มขึ้นจาก ออเดอร์ที่เข้ามาต่อเนื่องและการทยอยส่งมอบงานให้แก่ทางภาครัฐและเอกชน และหากไม่ติดปัญหาเลื่อนส่งมอบงานก็จะทำให้บริษัทมีรายได้ที่โดดเด่นที่สุดตั้งแต่มีการตั้งบริษัท...ถ้าครึ่งปีหลัง ออกมาตามคาด เราคาดว่ากำไรสุทธิจะทำจุดสูงสุดใหม่ด้วย เพราะหากรายได้เติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ จะหนุนให้กำไรโตตาม เพราะต้นทุนเราคงที่อยู่แล้ว"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว
นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าในไตรมาส 3/58 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และในไตรมาส 4/58 มีโอกาสที่รายได้จะแตะ 400 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีรายได้ 350 ล้านบาท เป็นผลจากการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับทางภาคเอกชนในส่วนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะงานโซล่าร์ฟาร์ม และงานทยอยส่งมอบของภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ส่งมอบงานให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)จากการเข้าไปประมูลก่อนหน้านี้ ที่มูลค่าโครงการ 155 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากที่บริษัทได้ขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้อานิสงค์จากโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงลูกค้าในประเทศมากเกินไป โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายในประเทศอยู่ที่ 80% และยอดขายต่างประเทศที่ 20% และตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจะมียอดขายต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% ตามแผนการขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง ในช่วงปลายไตรมาส 4/58 คาดว่าจะมีการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวภาพ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวเพิ่ม ซึ่งจะช่วยทำให้หนุนการเติบโต และมูลค่างานในมือ (backlog) ให้เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มี backlog อยู่ที่ระดับ 550 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับโครงการทดลองติดตั้งใช้หม้อแปลงอะมอร์ฟัส ในระบบจำหน่ายของกฟน.เพื่อลดค่ากำลังไฟฟ้าสูญเสียในระบบจำหน่าย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ร่วมกับ ฮิตาชิเมทัลส์ และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) กับกฟน.ในการทดลองโครงการดังกล่าว โดยทาง กฟน.ได้นำไปทดลองติดตั้งใช้งาน ขณะนี้ถือว่าการทดลองขั้นต้นถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นอีกพัฒนาการที่น่าจับตาของหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายจากเดิมที่ใช้แกนเหล็กแบบ Silicon steel เป็น แบบแกนเหล็กแบบ Amorphous ซึ่ง จะมีค่าสูญเสียในแกนเหล็กที่ต่ำกว่า ทำให้สามารถลดค่ากำลังไฟฟ้า สูญเสียในระบบจำหน่ายลงได้ทำให้การใช้งานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และถือเป็นผลดีในระยะยาว ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการผลิตเป็นอย่างมากและส่งผลต่ออัตรกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมงบลงทุนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และซื้อเครื่องจักรใหม่ รองรับการผลิตหม้อแปลงอะมอร์ฟัสดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้หากกฟน.เปิดให้เข้าประมูลในส่วนของสินค้าประเภท อะมอร์ฟัส จะทำให้ QTC สามารถมีงานเพิ่ม เพราะปัจุบันบริษัทเป็นรายเดียวที่มีความสามารถผลิตหม้อแปลงประเภท
สำหรับในปีหน้าบริษัทคาดรายได้จะเติบโต 20% มาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ส่วนปี 60 แตะ 1.5 พันล้านบาท เนื่องจากกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถรองรับการสร้างรายได้ถึง 1.5 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทยังจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการทำโรงไฟ้ฟ้าพลังงานทดแทนในแต่ละประเทศ ทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง