(เพิ่มเติม) "เอสซีไอ อิเลคตริค"กำหนดช่วงราคา IPO 5.5-6 บ.สรุปสัปดาห์นี้ เทรดกลางต.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 28, 2015 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)จำนวน 187.50 ล้านหุ้นที่ 5.50-6 บาท/หุ้น และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ราวกลางเดือน ต.ค.58 โดยมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการสร้างโรงงานที่เมียนมาร์ นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจาบริษัทจดทะเบียนเพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมในภาคอีสาน ขนาด 45 เมกะวัตต์ มูลค่า 3.7 พันล้านบาท ซึ่งได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ SCI คาดว่าจะสามารถนำหุ้น SCI เข้าซื้อขายในกลุ่มพลังงาน ของตลาดหลักทรัพย์ฯได้ราวกลางเดือน ต.ค.โดยกำหนดช่วงราคาขายหุ้น IPO ที่ 5.5-6.0 บาท และคาดว่าจะสรุปราคาหุ้น IPO ได้หลังทำการสำรวจราคา(BookBuild)ในสัปดาห์นี้ ก่อนจะเสนอขายหุ้น IPO ต้นเดือน ต.ค.

นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าหุ้นของบริษัทจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพราะพื้นฐานบริษัทดี โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ก่อสร้างโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในเมียนมาร์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมติลาวา ห่างจากย่างกุ้งประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเสา 7,500 ต้น/ปี รองรับการขายเสาในต่างประเทศ โดยยังมองโอกาสในเมียนมาร์เติบโตอีกมาก เพราะอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาเมืองทำให้มีความจำเป็นต้องใช้สายส่งและเสาโครงเหล็กจำนวนมาก

อีกส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา มี บล.ไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาทำการสำรวจสถานะสินทรัพย์ (Due Diligence) คาดว่าจะสรุปได้ในไตรมาส 4/58 เบื้องต้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีขนาด 45 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 3.7 พันล้านบาท ซึ่งได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว และจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) ประมาณปี 62 บริษัทต้องการถือหุ้น 30% ซึ่งจะทำให้มีส่วนแบ่งกำไรประมาณ 150-200 ล้านบาท/ปีหลังโรงไฟฟ้า COD แล้ว โดยธุรกิจพลังงานนับว่ามีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 30-40%

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้ จากงานเสาโทรคมมาคม 46%,งานรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูงและระบบจำหน่ายไฟฟ้า(EPC) 35% และงานผลิตตู้สวิทช์บอร์ด 16% และรับรู้รายได้การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว 2-3% ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ(Blacklog)ราว 1,200 ล้านบาท เป็นงานผลิตเสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)600 ล้านบาท และงานผลิตเสาของอินโดนีเซีย 600 ล้านบาท โดยงาน กฟผ.จะเริ่มผลิตและส่งมอบไตรมาส 4/58 ส่วนงานในอินโดนีเซียเริ่มผลิตปี 59 ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ

นอกจากนี้ยั งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการประมูล 4G ,โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประเภทรถไฟฟ้า รวมถึงการย้ายเสาไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งโครงการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เสา ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของบริษัทในอนาคต รวมถึงขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการยื่นงานเพื่อขออนุมัติโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเฟส 2 ในลาว มูลค่า 67 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะรู้ผลปลายปีนี้ โดยหากได้รับงานนี้จะมีรายได้ส่วนงานรับเหมาในลาวกลับเข้ามาต่อเนื่องเพราะงานดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน จากเดิมที่ได้รับงานและส่งมอบงานในเฟสแรกไปแล้ว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในปี 58 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2.8 พันล้านบาท โดยครึ่งปีแรกทำรายได้ได้แล้ว 1.2 พันล้านบาท ส่วนปี 59 ตั้งเป้ารายได้ทะลุ 3 พันล้านบาท และปี 62 คาดว่าจะเติบโตก้าวกระโดด หลังโรงงานในเมียนมาร์แล้วเสร็จและรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานลมในไทยเข้ามา

ขณะเดียวกัน ปีนี้ยังได้รับประโยชน์จากราคาเหล็กที่ปรับลดลง 10% ตั้งแต่ต้นปี โดยต้นทุนหลัก 60% มาจากเหล็ก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อน 2-3% โดยในปีก่อนอยู่ที่ระดับ 20% ส่วนอัตรากำไรสุทธิคาดว่าจะรักษาไว้ที่ 12-13% ใกล้เคียงปีก่อน โดยครึ่งปีแรกอยู่ที่ 12% แต่ราคาเหล็กที่ปรับลงอาจทำให้ทั้งปีนี้มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12-13% โดยปัจจุบันบริษัทซื้อเหล็กจาก บมจ.ค้าเหล็กไทย(TMT) และกลุ่มมิตซูบิชิ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ