โดยในวันนี้ บริษัทฯ เปิดตัวบริษัทร่วมทุน มอนเด มาลี เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (Monde Malee Beverage Corporation) กับบริษัท มอนเด นิสชิน คอร์ปอเรชั่น (Monde Nissin Corporation) จากประเทศฟิลิปปินส์ เตรียมผลิต และส่งออกเครื่องดื่ม เพื่อขยายตลาดและพัฒนาแบรนด์เครื่องดื่มในฟิลิปปินส์ รองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดเครื่องดื่มในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานของบริษัท ในการขยายโอกาสไปยังตลาดต่างประเทศ
การร่วมทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้ง 2 บริษัท ทั้งนี้ MALEE ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจเครื่องดื่มมายาวนาน มีความสามารถในการผลิตเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าชั้นนำต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีเครื่องจักรการผลิตที่ทันสมัย และมี Innovation center ที่สามารถคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคฟิลิปปินส์ โดยบริษัท มอนเด นิสชิน คอร์ปอเรชั่น มีความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคฟิลิปปินส์ และรู้จักตลาดฟิลิปปปินส์เป็นอย่างดี มีความแข็งแกร่งในแง่การตลาด การสร้างแบรนด์ และช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างที่สุดในอุตสาหกรรม มีความสามารถในการเข้าถึงและให้บริการทั้งห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ จนถึงร้านค้าเทรดิชั่นนอลเทรดขนาดเล็ก ซึ่งศักยภาพของทั้ง 2 บริษัทฯ จะเป็นตัวหนุนให้บริษัทร่วมทุนสามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก บริษัท มอนเด มาลี เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าในการเปิดตัวสินค้ารายการแรก และเริ่มจัดจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ในต้นปี 2559
นายฉัตรชัย คาดว่า ยอดขายฟิลิปปินส์ ทะลุ 4 พันล้านบาทใน 3-5 ปี จาก 2 ปีแรกราว 1 พันล้านบาท โดยในไตรมาส 1/59 คาดว่าจะมีการออกสินค้าใหม่ ภายใต้แบรนด์ใหม่ ซึ่งเจ้าของแบรนด์ใหม่จะเป็นบริษัทร่วมทุน เพราะมอนเดฯ มีคอนซูมเมอร์รีเสิร์ชที่แข็งแรง น่าจะได้ชื่อที่เหมาะสม ซึ่งสินค้าตัวใหม่จะไม่ใช่น้ำผลไม้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำผลไม้ภายใต้แบรนด์"มาลี"ก็ยังคงขายต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่เราทำการตลาดในฟิลิปปินส์ ได้แก่ ชา กาแฟ นม ตลาดในฟิลิปปินส์ยังเปิดอยู่ยังเล็กมาก เพราะมูลค่าตลาดรวมเครื่องดื่ม(ไม่รวมแอลกอฮอร์) ของฟิลลิปปินส์เกือบ 2 แสนล้านบาท/ปี ถ้ารวมแอลกอฮอร์ 2 แสนกว่าล้านบาท/ปี ขณะที่มูลค่าตลาดรวมเครื่องดื่ม(ไม่รวมแอลกอฮอร์) ของไทย อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท/ปี มองฟิลิปปินส์ยังมีโอกาสขยายได้อีกมาก
สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศ นอกจากร่วมทุนกับพันธมิตรฟิลิปปินส์แล้ว บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาอีกหลายประเทศ เน้น ประเทศในกลุ่มอาเซียน (AEC) เป็นหลัก มองประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้เรามีสินค้าวางจำหน่ายอยู่แล้ว แต่เป็นการขายตั้งตัวแทนจำหน่ายการขยายตลาดจะน้อยกว่า ของที่เป็นของเราเอง
"เป้าแรกยอดขายในฟิลิปปินส์ ใน 2 ปี ราว 1,000 ล้านบาท และใน 3-5 ปี จะเพิ่มเป็นเท่าธุรกิจในประเทศราว 4 พันกว่าล้านบาท โดยไตรมาส 1/59 จะออกสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์บ.ร่วมทุน เป็นโปรดัสก์ใหม่ การแข่งขันจะน้อยกว่า"
ส่วนการจะลงทุนก่อสร้างโรงงานในฟิลิปปนส์นั้น ยังไม่จำเป็นเพราะเพิ่งอยู่ระหว่างการไปสร้างตลาดเบื้องต้น เพื่อเป็นการประหยัดงบ ขณะที่กำลังการผลิตของโรงงานในไทยยังเหลือพอ บวกกับบรรจุภัณฑ์ยังค่อนข้างได้เปรียบกว่าจะอยู่ในฟิลิปปินส์ แต่ถ้าวอลุ่มมากขึ้นและถ้าเราเห็นพ้องว่า การผลิตในฟิลิปปินส์ถูกกว่าเราถึงจะพิจารณาจัดตั้งโรงงานซึ่งคาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจึงจะพิจารณา
"ตลาดในประเทศแข่งขันสูง การขยายตลาดในประเทศต้องใช้เงินลงทุนด้านการตลาดมาก ถ้าเราจะทำแบบรวดเร็วก็ต้องยอมสละ bottom line (กำไร) จึงคิดว่าเงินลงทุนที่จะขยายตลาดให้โตเร็วในตลาดที่แข่งขันน้อยกว่าน่าจะมีโอกาสมากกว่า เชื่อว่าบริษัทร่วมทุนจะทำให้บริษัทนี้สามารถมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเครื่องดื่มที่ 2 แสนล้านบาทได้ ถ้าเงินลงทุนเท่ากันน่าจะสร้างผลประโยชน์ให้บริษัทได้มากกว่าการขยายตลาดในประเทศที่แข่งขันสูง"
ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานในไทยอยู่ที่ 300 ลิตร/วัน ยังใช้ไม่เต็ม ยังสามารถผลิตเพื่อรองรับการขายในฟิลิปปินส์ได้อยู่
ทั้งนี้ บริษัทฯตั้งงบลงทุน 3 ปี(57-59) 200-300 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัย ปรับปรุงไลน์การผลิต เพราะโรงงานเรานานกว่า 30 ปีแล้ว
โดยปี 59 บริษัทคาดรายได้รวมจะเติบโตกว่าปี 58 ราว 20% หลังรับรู้ยอดขายจากฟิลิปปินส์ โดยปีนี้ (58) คาดรายได้รวมจะเติบโตกว่าปีก่อน 10% หลังครึ่งแรกโตได้ตามเป้าหมายแล้ว ขณะที่กำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนตามวอลุ่มที่โตขึ้น โดยปีนี้จะรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ 6-7% จากปีก่อน 6.44% จากการบริหารจัดการได้ดี
"กำไรปีนี้สูงกว่าปีก่อน ปัจจัยจากยอดขายที่โต 10% การบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ขณะที่การแข่งขันในประเทศมีตลอดเวลา มีผู้เข้ามาเล่นในตลาดเยอะขึ้น ตลาดในไทยไม่โต แต่แค่เรารักษามาร์เก็ตแชร์ได้ก็ดีแล้ว โดยปัจจุบันถ้าน้ำผลไม้ 100% มาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 24% เป็นอันดับ 2 เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่ 22-23%" นายฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ การบริโภคน้ำผลไม้ของคนไทยอยู่ที่ 5 ลิตร/ปี/คน ปีนี้น้อยมากเพราะมีของสดเยอะ ขณะที่ฟิลิปปินส์อาจต่ำกว่าไทยเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับสหรัฐฯอยู่ที่ 10 ลิตร/ปี/คน
ในปีนี้ บริษัทฯออกรสชาติใหม่ 4-5 รส เช่น น้ำลูกแพร์ น้ำเชอรี่ น้ำมะเขือเทศ และมาลีโฟไบโอติกส์