นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการของ BECL กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการควบรวมกิจการนั้นอยู่ระหว่างการร่างสัญญาใหม่ที่แก้ไขโดยสำนักงานอัยการสูงสุด การพิจารณาของรมว.คมนาคม และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาของภาครัฐที่ทางบริษัทไม่สามารถควบคุมได้ เพราะไม่ได้ดยู่ในอำนาจของคณะกรรมการทั้งสองบริษัท
แต่หากครม.ยังไม่อนุมัติการควบรวมกิจการทั้งสองแห่งภายในระยะเวลาที่ได้ขยายแล้วคือไม่เกิน 1 เม.ย.59 นั้น บริษัททั้งสองแห่งก็จะต้องกลับมาดำเนินตามขั้นตอนใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนขออนุมัติจากหน่วยงานรัฐและครม.
ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ของ BECL และประธานที่ประชุมในวันนี้ กล่าวว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้วบริษัทสองแห่ง ทั้ง BECL และ BMCL จะหายไป และจะมีบริษัทใหม่เข้ามา ขณะที่คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเข้าเรื่องการควบรวมกิจการของทั้งสองแห่งเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินในการควบรวมกิจการระหว่าง BECL และ BMCL กล่าวว่า หากครม.อนุมัติการควบรวมกิจการแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการทั้งสองบริษัทเพื่อเรียกประชุมผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทร่วมกันอีกครั้งเพื่ออนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใข้เวลาประมาณ 40 วัน และเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้วจะนำมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปขอจดทะเบียนบริษัทใหม่ ต่อกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ทุนจดทะเบียนของสองบริษัทรวมกัน และคาดว่าอีก 2-3 วันหลังจากนั้น หุ้นบริษัทใหม่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วยราคาใหม่ได้
นางพเยาว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการควบรวมบริษัทใหม่ได้ก่อนวันที่ 1 เม.ย.59 เงินกำไรสะสมของ BECL ที่มีจำนวน 7,700 ล้านบาทจะกลายเป็นฐานทุนให้บริษัทใหม่ และนำไปคำนวณในราคาบริษัทใหม่ รวมกับแนวโน้มการเติบโตของ BMCL ก็นำไปคำนวณราคาบริษัทใหม่ด้วย