ทั้งนี้ เพื่อนำเงินระดมทุนมาขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้า การพัฒนาโปรแกรมการออกแบบทางวิศวกรรมและการขยายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ AEC จีน และเอเชียใต้ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการเติบโตของธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
GTB เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำ(Steam Boiler) ระบบเผาไหม้(Combustion Engineering) งานวิศวกรรมพลังงานความร้อน(Thermal Energy Engineering) อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และงานบริการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไอน้ำ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของทุกโรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก ตลอดจนกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่สลับซับซ้อนทางเทคนิคสูง เช่น อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือโรงกลั่น
ขณะที่เครื่องกำเนิดไอน้ำที่บริษัทผลิตสามารถออกแบบให้มีความเหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้าแต่ละประเภท โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ยึดหลักการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ และมีความพร้อมใช้งานสูง (Performance,Efficiency, Reliability, Availability) ช่วยประหยัดการใช้เชื้อเพลิง ในขณะที่สามารถผลิตไอน้ำหรือไอน้ำยิ่งยวดให้ได้อุณหภูมิและความดันตามที่ลูกค้าต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผลิตให้กับอุตสาหกรรมในประเทศและจำหน่ายไปต่างประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อาฟริกาใต้ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต เป็นต้น
นอกจากนั้น บริษัทยังเป็นผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำให้กับบริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศเยอรมันนี เบลเยียม และญี่ปุ่น ในรูปแบบ OEM รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ จากบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพและความโดดเด่น ตอบสนองลูกค้าที่ต้องการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำหรืออุปกรณ์ประกอบจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน
"การเข้าระดมทุนในตลาดเอ็ม เอ ไอ ถือเป็นการเปิดโอกาสเข้าถึงอีกแหล่งเงินทุนหนึ่งที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมด้านความเชื่อมั่นให้กับบริษัทในการเจรจาธุรกิจกับลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย"นายสุชาติ กล่าว
นายสุชาติ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 962.29 ล้านบาท พร้อมรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ราว 20% ปัจจุบันบริษัทฯมีงานในมือ (Backlog) ราว 427 ล้านบาท โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 80% และรายได้จากต่างประเทศ 20% ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดสว่นรายได้ต่างประเทศเป็น 70% ภายใน 3-5 ปี ด้วยการเน้นการขยายตลาดเวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมขยายสำนักงานขายในอินโดนีเซียอีก 1 แห่ง มูลค่าการลงทุนราว 5 ล้านบาท
บริษัทยังเตรียมลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ตัน/ปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ 1,000 ตัน/ปี โดยตั้งงบลงทุนไว้ราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 59 คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ในช่วงปลายปี 59
พร้อมกันนั้น บริษัทยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 40% ใน 3-5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% โดยบริษัทจะมีการขยายสถานีบริการให้เพิ่มขึ้นเป็น 14 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 30 ล้านบาท
"หลังจากที่เราสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ mai ได้แล้ว เราก็จะนำเงินนั้นมาขยายกำลังการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อที่จะรับงานขนาดใหญ่มากขึ้น และรองรับการขยายงานไปต่างประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะเป็นการสร้างสถานนีบริการให้ความสะดวกในการให้บริการกับลูกค้าด้วย"นายสุชาติ กล่าว
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของบริษัท เจตาแบค จำกัด(มหาชน) ต้องอาศัยความชำนาญ และความเชี่ยวชาญในวิชาชีพขั้นสูง ต้องคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานที่เหมาะสมของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรม จึงกล่าวได้ว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำของ เจตาแบค จะเติบโตตามอุตสาหกรรมทุกประเภท รวมถึงต้องบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ผลงานกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันที่แสดงให้แล้วว่า เจตาแบค มีการทำงานที่มีศักยภาพและการบริหารงานอย่างดีเยี่ยม ด้วยการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาปี 57 บริษัทมีรายได้ 962.29ล้านบาท กำไรสุทธิ 49.73 ล้านบาท สำหรับในปี 58 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทมีรายได้ 412.90 ล้านบาท กำไรสุทธิ24.63 ล้านบาท และยังมีงานที่ยังไม่ส่งมอบอยู่ระหว่างการดำเนินงานอีกจำนวนมาก
ขณะที่ความต้องการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำในอุตสาหกรรมต่างๆเองมีการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้กำลังการผลิตของบริษัทไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องหาเงินทุนมาสนับสนุนเพื่อขยายโอกาสดังกล่าว และรองรับความต้องการที่จะเข้ามาในอนาคต รวมถึงบริษัทมีแผนขยายตลาดการขายและบริการไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จะช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถดำเนินการดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายสมภพ กล่าวอีกว่า การกำหนดราคา IPO จะมีส่วนลดตารมปกติที่ระดับ 15-25% ซึ่งจะทราบก่อนจะมีการกระจายหุ้นประมาณ 3 วัน