การเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ มีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือ บล.เคที ซีมิโก้, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) , บล.โนมูระ พัฒนสิน และบล.เอเซีย พลัส
สำหรับราคา IPO ที่ 5.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ประมาณ 11.33 เท่า โดยคำนวณมาจากผลประกอบการของบริษัทในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา(ไตรมาส 3/57-ไตรมาส 2/58)ซึ่งกำไรสุทธิเท่ากับ 390.69 ล้านบาท หรือเท่ากับ 0.52 บาทต่อหุ้น โดย P/E Ratio คิดเป็นอัตราส่วนลดประมาณร้อยละ 55.82 จาก P/E ของหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy) ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.-25 ก.ย.58 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 25.64 เท่า
“มั่นใจว่าหุ้น SCI จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากธุรกิจของกลุ่ม SCI มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เห็นได้จากในช่วงเดินสายโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนสถาบัน กองทุน และรายย่อยต่างให้การตอบรับอย่างดี มั่นใจในแผนการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต นอกจากนี้ SCI ยังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก"นายวิชา กล่าว
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจในพื้นฐาน ประกอบกับบริษัทมีแผนรองรับการเติบโตที่ชัดเจน และแผนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายกระจายสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นงานในประเทศ 50% และในประเทศ 50% โดยงานในประเทศยังมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง และคาดจะได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐจะจัดประมูล 4G เร็วๆ นี้น่าจะสนับสนุนความต้องการใช้ให้เพิ่มขึ้น และส่งผลบวกโดยตรงต่อ SCI
การระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับบริษัท โดยเตรียมนำเงินที่ได้ไปคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า(PDSR)เฟส 2 ในลาว ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการได้ประมาณไตรมาส 4/58 ลงทุนในโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในเมียนมาร์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ราวไตรมาส 1/59 และลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ร่วมกับพันธมิตร โดย SCI จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 30%
“การที่เราขยายการลงทุนในลาวและเมียนมาร์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพราะอนาคตลาวจะกลายเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย และเมียนมาร์ ก็เพิ่งมีการเปิดประเทศ ทำให้มีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยผลักดันธุรกิจของ SCI เติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปิดเสรีเอเอซีในช่วงปลายปีนี้"นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า โอกาสสำหรับงานในต่างประเทศยังมีอีกมาก และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากบริษัทรุกกธุรกิจสายส่งในลาว และได้รับความไว้วางใจ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในอนาคตหากมีโครงการขยายสายส่งจะทำให้บริษัทรับงานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนโรงงานผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในประเทศพม่าจะร่วมกับพันธมิตร มีมูลค่าลงทุนราว 26 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1/59
นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย ขนาด 45 เมกะวัตต์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในสัดส่วน 30% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดราว 3.5-3.7 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มใช้เงินทุนราวในปี 59 และจ่ายไฟเข้าระบบ(COD)ได้ประมาณปี 62
ผลการดำเนินงานของ SCI ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ปี 55-57) บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับ 1,443.67 ล้านบาท 2,175.81 ล้านบาท และ 2,808.60 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตในปี 56 จำนวน 50.71% เมื่อเทียบกับปี 55 และคิดเป็นอัตราการเติบโต 29.08% ในปี 57 เมื่อเทียบกับปี 56 ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับปี 55-57 เท่ากับ 65.29 ล้านบาท 171.29 ล้านบาท และ 326.51 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 58 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน