นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังขอเรียกร้องให้ชะลอการเก็บภาษีที่ดิน 0.03% เฉลี่ย 600 บาท/หลัง ออกไปก่อนราว 2-3 ปี เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี หากมีการจัดเก็บจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและคนซื้อ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
ส่วนมาตรการการสนับสนุนให้เข้าถึงสินเชื่อของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า เห็นด้วยเพราะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยกู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น และจะเกิดการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมากขึ้น รวมทั้งส่งผลให้ผู้ประกอบการขายสินค้าในสต๊อกได้มากขึ้น เพราะบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทมีสัดส่วนมากที่สุดในตลาด ส่วนบ้านราคาบ้าน 2 ล้านบาทขึ้นไปมีสัดส่วนเพียง 14% ของมูลค่าตลาดโดยรวม 5 แสนล้านบาท/ปี
ด้านนายอาทิตย์ พีชานนท์ กรรมการ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) ในฐานะนายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากภาครัฐยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาโดยเร็วจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกรายจากนี้ไปจนถึงต้นปี 59 จะได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถขายสินค้าได้ทั้งในสต็อกเก่าและโครงการใหม่ โดยขณะนี้เห็นสัญญาณการชะลอตัวการซื้อและการโอนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดในกรุงเทพและปริมณฑล ที่เติบโตลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากช่วงต้นปี 58 เห็นการเติบโตค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม มองว่า ตลาดกรุงเทพยังเป็นบวกได้ แต่ต่างจังหวัดยังติดลบอยู่ และตลาดบ้านจัดสรรปีนี้จะบวก 0-5% ส่วนตลาดคอนโดมิเนียม ยังติดลบราว 10%
ด้านนางอาภา อรรถสมบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชชี่ เพลซ 2002 (RICHY) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรั้พย์จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะสามารถช่วยภาระการโอนและค่าจดจำนองบ้านและที่ดิน รวมทั้ง ยังช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนใดๆจากภาครัฐ
ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นและมีความพร้อมไม่ควรรอมาตรการของรัฐ เพราะในงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ มีการจัดโปรโมชั่นพิเศษจากผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งมั่นใจว่ายอดผู้เข้าร่วมงานในปีนี้จะทะลุ 1 แสนคน และมียอดขายในงานนี้ราว 3 พันล้านบาท หลังจากงานนี้คาดว่ายอดขายจะเติบโต 2-3 เท่าตัว