ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากมีความชัดเจนของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral)จากเดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ซบเซา(Bearish) สำหรับหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดคือ บริการรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่กลุ่มเหล็กไม่น่าสนใจมากที่สุด
สำหรับปัจจัยลบที่ต้องจับตามองอยู่คือข้อพิพาทความขัดแย้งระหว่างประเทศของรัสเซียกับซีเรีย และการสร้างเกาะเพื่อตั้งฐานทัพของจีน ซึ่งจะมีผลต่อจิตวิทยาต่อเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตที่อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก และการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกได้ อย่างไรก็ตามมองว่าดัชนีหุ้นไทยในช่วงหลังจากนี้ไป ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หากปัจจัยระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่มีความรุนแรงขึ้น
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาลงนั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเงินทุนไหลออกของไทยมากนัก เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดได้คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED)ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงการปรับประมาณการนั้นเป็นการปรับลดลงทั่วโลก จึงเชื่อว่าจะไม่ทำให้เงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจนน่าเป็นกังวล แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าเงินทุนที่จะไหลออกนั้นจะกระทบต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่ามากขึ้นหรือไม่
ด้านนายฐิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บล.กสิกรไทย กล่าวว่า นักลงทุนที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นเดือน ต.ค. นั้น เป็นผลมาจากราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงมาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) และหุ้นกลุ่มแบงก์ถือว่ามีราคาที่ปรับตัวลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้ามาซื้อในช่วงราคาต่ำเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ดี นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/58 จะออกมาดี ประกอบกับคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวมากขึ้น และราคาสินค้าเกษตรมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้ จะเห็นได้จากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความผันผวน โดยยังต้องติดตามว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่ฟื้นตัวเม็ดเงินมีโอกาสไหลกลับไปยังยุโรปและสหรัฐหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และหาก FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้มีเม็ดเงินไหลออกมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันมองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงหลายประเด็นโดยเฉพาะความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินในประเทศเกิดใหม่ รวมถึงการพึ่งพาการส่งออก เป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจอขงไทยฟื้นตัว ลักษณะ U Shape หรือเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพจริงไประยะหนึ่ง
สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกที่หดตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันตามอุปสงค์ของตลาดโลกที่ยังอ่อนแอจากคู่ค้าหลักคือประเทศจีน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังซบเซา ส่วนปัจจัยที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจยังเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว