นายขัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะนำหุ้น BCPG ซึ่ง BCP ถือหุ้นทั้ง 100% ยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.ไม่เกินเดือนมี.ค. 59 โดยคาดจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 170 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 30% ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งคาดว่าเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์(SET) ไม่เกินไตรมาส 3/59
บริษัทจะจัดสรรหุ้น IPO เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นในประเทศ โดยจะให้สิทธิกับผู้ถือหุ้น BCP จำนวนไม่ต่ำกว่า 10% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย แต่ไม่เกิน 25% และให้ผู้บริหารและผู้อุปการะคุณ รวมนักลงทุนรายย่อย โดยหลังขายหุ้น IPO บริษัทจะถือหุ้นใน BPCG ลดลงเหลือ 70%
ในวันนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น BCP อนุมัติการโอนขายหุ้นสามัญทั้งหมดในกิจการไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้กับ BPCG ได้แก่ บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี จำกัด(BSE) ที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เฟสสอง กำลังผลิต 32 เมกะวัตต์ และบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5 โครงการรวม 48 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เฟสแรก 38 เมกะวัตต์จาก BCP
รวมทั้งหมดจะโอนสินทรัพย์มูลค่ารวมราว 1 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPAโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เฟส) กับการไฟฟ้าฝ่ายการผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) ในอัตรา 8 บาท/หน่วยและมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบทุกแห่งแล้ว
หลังจากรับโอนสินทรัพย์แล้ว BCPG จะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 400 ล้านหุ้น มูลค่าทึ่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีทุนจดทะเบียนตั้งต้น 2 ล้านบาท พร้อมอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้น IPO ของ BCPG และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยคะแนนเสียง 99.866% ของผู้มีสิทธิและมาประชุม
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แผนงานของ BCPG จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 382 เมกะวัตต์ ให้เป็น 500 เมกะวัตต์ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต 118 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าสัดส่วน 50-60% หรือมากกว่า 60% ของกำลังผลิตใหม่จะมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเน้นแถบประเทศอาเซียน ขณะที่ในประเทศมีข้อจำกัดและมีการแข่งขันสูง คาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการเสนอขายหุ้น IPO ประเมินเบื้องต้นราว 5,500 ล้านบาท และยังสามารถใช้เงินกู้ได้อีก 16,500 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีกระแสเงินสดจากรายได้ปัจจุบันปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าเงินทุนน่าจะเพียงพอ
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า การแยกธุรกิจไฟฟ้าออกไปเป็น BCPG จะช่วยลดภาระบริษัทในการสนับสนุนด้านเงินทุนธุรกิจไฟฟ่าหมุนเวียนในระยะยาว จากที่ BCPG สามารถระดมทุนเองผ่านช่องทางตลาดทุน นอกจากนี้ ยังทำให้โครงสร้างธุรกิจชัดเจน และราคาหุ้นจะสะท้อนธุรกิจไฟฟ่าพลังงานหมุนเวียนได้ชัดเจนมากขึ้น
"เมื่อเข้าตลาดแล้วมูลค่าBCPG จะสูงกว่า BCP พอสมควร และอาจจะเพิ่มมูลค่าให้ BCP 5-10 บาท/หุ้น ฉะนั้นการ spin off นี้ได้ประโยชน์และทำให้เห็นการเติบโตได้ชัดเจน ทำให้ธุรกิจชัดเจนด้วย"นายชัยวัฒน์ กล่าว