"การซื้อกิจการเข้ามามีข้อดีที่เราไม่ต้องก่อสร้าง แต่มีกระแสไฟเข้ามาทันที รับรู้รายได้เร็ว"นายวิชัย กล่าว
นอกจากนั้น บริษัทยังเตรียมเข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และส่วนราชการที่จะประกาศใบสัญญาซื้อไฟฟ้าปลายปีนี้ โดย IFEC คาดหวังจะร่วมโครงการราว 100 เมกะวัตต์ จากที่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบแรกรวม 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 6,500 ล้านบาท
สำหรับแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินสดในมือที่มีอยู่ราว 2,000 ล้านบาท พร้อมกันนั้นบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทในช่วงปลายเดือนนี้ทั้งจำนวน อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับสภาพตลาด โดยจะเสนอขายในประเทศให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อเตรียมเงินไว้สำหรับขยายการลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียน
"ออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท ต้องเตรียมเงินไว้พัฒนาโครงการทั้งหลาย เช่น พลังงานลมลิกอร์ โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และส่วนราชการ เพราะกลัวว่าถ้าประกาศออกมาแล้วเตรียมเงินไม่ทัน จึงต้องออกหุ้นกู้นี้มา เช่น ถ้าได้ 100 เมกะวัตต์ เงินต้องใช้แน่ๆ 6,500 ล้านบาท ในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และส่วนราชการ และยังมีโครงการลมลิกอร์ โครงการลมเทพา 4.8 เมกะวัตต์ การลงทุนในยุโรป ออสเตรเลียอีก เป็นแผนงานโปรเจ็คต์ใหญ่ๆทั้งนั้น และยังมีโมเดลอื่นต่อ เบื้องต้นพิจารณาแล้วถ้าเราจะก่อหนี้ออกหุ้นกู้เป็น step แรก"นายวิชัย กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ 0.50 เท่า หลังออกหุ้นกู้คาดว่าจะทำให้ D/E ขยับขึ้นไปอยู่ที่ราว 1 เท่า ซึ่งยังคงไม่ได้สร้างภาระให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนแผนงานปี 59 บริษัทยังมีความสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มได้
นายวิชัย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 40 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 23 เมกะวัตต์ พลังงานชีวมวล 7.5 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 8.965 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบปี 57 ที่ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนงานในปี 59 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 400 เมกะวัตต์ โดยเน้นที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
ทั้งนี้ ความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ เดิมคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD)ได้ต้นไตรมาส 4/58 ปัจจุบันเสา 5 ต้นอยู่ในสภาพจ่ายไฟได้ 100% แต่ต้องรอการตอบรับจากภาครัฐเรื่องระบบสายส่ง โดยคาดว่าภายในปลายเดือน ต.ค.58 จะเห็นกังหันลมหมุนพร้อมกัน และไตรมาส 4/58 น่าจะรับรู้รายได้เข้ามาเกือบเต็มไตรมาส
ส่วนโครงการพลังงานลมที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 33 เมกะวัตต์นั้น คาดว่ากระบวนการซื้อหุ้นน่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4/58 นี้ เริ่มรับรู้รายได้ทันที มูลค่าลงทุน 1 พันล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าจะเข้าไปถือหุ้นราว 30% ขณะที่โครงการลมลิกอร์ มูลค่าลงทุน 800 ล้านบาท ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ลงทุนโดย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ IFEC
"วันนี้รูปแบบ IFEC เป็นโฮลดิ้ง ลงทุนทั้งแดด ลม ไฟฟ้าจากขยะชีวมวล โครงสร้างรายได้ก็เปลี่ยน ยิ่งไตรมาส 3-4 พอได้ก้อสร้างพลังงานลมเพิ่ม กำไรก็จะเพิ่มขึ้นตามเมกะวัตต์และยิ่งปีถัดไปก็จะรับรู้กำไรเพิ่มขึ้นไปอีก"นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย กล่าวถึงผลประกอบการในปีนี้ว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3/58 บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยผลักดันกำไรสุทธิในปีนี้ให้สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิราว 72 ล้านบาท โดยครึ่งแรกของปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 90 ล้านบาท และครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีกำไรสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากผ่านจุดคุ้มทุนที่ 30 เมกะวัตต์แรก หลังจากสามารถ COD ได้ โดยสิ้นปี 58 IFEC คาดจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ จากสิ้นไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 40 เมกะวัตต์ ซึ่งก็จะทำให้ทั้งปีบริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานที่แท้จริง และจะเติบโตดีต่อเนื่องในปี 59 หลังจากรับรู้การ COD ของโครงการลมปากพนังเต็มที่ทั้งปี
และปัจจัยที่จะสนับสนุนให้กำไรเติบโตได้ดีขึ้นต่อเนื่องยังมาจากการรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศทั้งที่เกาะเจจู และโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศกัมพูชาคาดว่าจะเปิดเฟสแรก 5 เมกะวัตต์ในเดือน ม.ค.59 และจะครบ 20 เมกะวัตต์ในช่วงกลางปี 59
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายได้รวมปี 58 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 57 ที่ 638 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานรัฐมีความล่าช้าเรื่องใบประกาศรับซื้อไฟฟ้าออกไปจากเดิมที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะมี 100 เมกะวัตต์ โดยครึ่งแรกมีรายได้ราว 406 ล้านบาท
"ตามแผนเดิมถ้ารัฐออกประกาศมาโซลาร์ฟาร์มในมือเราต้องมากกว่านี้ ไม่คิดว่าสัมปทานรัฐจะเลื่อนจากที่คาดว่าเดือน มิ.ย.58 แต่ล่าช้ามาถึงปลายปี ทำให้สิ้นปีนี้เราคาดว่าจะมีกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม 100 เมกะวัตต์"นายวิชัย กล่าว