กสทช.คาดประมูล 4G ได้เงินส่งคลัง 7.3 หมื่นลบ.ดันเอกชนลงทุน 1.5 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 12, 2015 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยในงานสัมมนา"4G จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย"ว่า การประมูล 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจาณาคุณสมบัติ คาดว่าจะประกาศได้ในวันที่ 15 ต.ค.58 โดยจะประมูลในวันที่ 11 พ.ย.58 ส่วนคลื่นความถี่ 900 MHz จะเปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวได้ในวันที่ 22 ต.ค.58 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ยื่นซองไม่น้อยกว่า 4 รายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เมื่อการประมูลเกิดขึ้นมองว่าจะมีเม็ดเงินที่เกิดจากการประมูลทั้ง 2 คลื่นในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป และน่าจะมีรายได้ที่เกิดจากการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 4 ราย รวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

หลังจากโอเปอร์เรเตอร์อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างไรนั้น ทางสำนักงาน กสทช.ได้ให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาเรื่องดังกล่าว คาดการณ์ว่าในปี 59 จะมีการเปิดให้บริการ 4G ในช่วงเดือนเม.ย.59 และจะมีการเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1.68 แสนล้านบาท ขณะที่จะเกิดการใช้งานอย่างทั่วถึงในทุกธุรกิจ เช่น ขนส่ง สื่อสาร โรงแรม เรียลเอสเตส สุขภาพ เป็นต้น รวมถึงในชนบท ที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและชนบทได้ และถ้ามีการเปิดให้บริการ 4G ในเดือนม.ค.59 การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันในปี 60 ผลการศึกษา ชี้ว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจถึง 2.6 แสนล้านบาท และภายใน 5 ปี ประมาณการณ์ว่าน่าจะมีมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยสำนักงานกสทช.ยืนยันว่าจะเดินหน้าประมูล 4G ทั้ง 1800 MHz ,900 MHz และจะไม่หยุดดำเนินการจนกว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองออกมา เพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้น จะเห็นได้จากการประมูล 3G หรือ 2100 MHz ที่ผ่านมาในปี 56 ซึ่งหลังจากมีการเปิดให้บริการ 3G การใช้งานบนคลื่นความถี่ 2G ถือว่ามีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานบน 2G ราว 4 ล้านเลขหมาย และมีการเพิ่มขึ้นของการใช้งานบน 3G ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ที่ราว 90 ล้านเลขหมาย ขณะที่มีการใช้งานบนอิเตอร์เน็ตต่อคนต่อไตรมาส (DATA) เพิ่มขึ้นถึง 68% ประกอบกับอันดับไอซีทีของประเทศไทยก็ปรับตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ลำดับ 81 จากเดิมอยู่ที่ลำดับ 91 โดยเชื่อมั่นว่าหากมีการให้บริการ 4G เกิดขึ้น ก็น่าจะส่งผลทำให้อันดับไอซีทีของประเทศไทยขยับขึ้นอีกกว่า 10 อันดับอย่างแน่นอน จากอัตราการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ไทยจะอยู่ในอันดับที่ 4 ซึ่งรองจากประเทศมาเลเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ