บลจ.กสิกรไทย ขายกองทุนพันธบัตรญี่ปุ่น 19-20 ต.ค.นี้ คาดผลตอบแทน 1.50%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 16, 2015 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2558 บลจ.กสิกรไทยจะเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค พันธบัตรญี่ปุ่น 3 เดือน เอ (KJG3MA) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 1.50% ต่อปี โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ระดับต่ำ แต่ยังแสวงหาการลงทุนที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

กองทุนเปิดเค พันธบัตรญี่ปุ่น 3 เดือน เอ (KJG3MA) มีอายุโครงการประมาณ 3 เดือน และมีมูลค่าโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท มีนโยบายเน้นลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ออกไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน พร้อมทั้งมีนโยบายเข้าทำสัญญาสวอป (Swap) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 100%

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะเข้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วนเต็ม 100% เนื่องจากให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก เพราะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับ F1 ซึ่งถือเป็นอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดสำหรับพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจากการจัดอันดับของ Fitch Rating

บลจ. กสิกรไทย เชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ด้วยขนาดผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่สูงกว่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยประมาณ 15 เท่า นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2558 นี้ GDP จะยังเติบโตอยู่ที่ระดับ 0.9% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เน้นกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการใช้นโยบายธนู 3 ดอก ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวของรัฐบาลญี่ปุ่น อาทิ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนกว่า 80 ล้านล้านเยนต่อปี ส่งผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ส่วนสถานะด้านการเงินการคลังของญี่ปุ่น ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังเพื่อเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้ว่าปัจจุปันภาครัฐจะมียอดหนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ บลจ.กสิกรไทยเชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 125 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืมภายในประเทศ จึงมีความเสี่ยงด้านภาระหนี้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าค่อนข้างจำกัด ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมต่ำไปด้วย นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีวินัยในการชำระคืนหนี้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกองทุนของบลจ.กสิกรไทยดังกล่าวจะไปลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลอายุ 3 เดือน ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้น ทำให้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระอยู่ระดับต่ำ

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังได้เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนต่อเนื่องให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้แบบที่มีกำหนดอายุโครงการ (Fixed Term Fund) ของบลจ.กสิกรไทย ซึ่งเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ บริษัทจัดการจะนำเงินค่าขายคืนอัตโนมัติไปซื้อหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนเลือกได้กองทุนใดกองทุนหนึ่งใน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตลาดเงิน (K-MONEY) กองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) หรือกองทุนเปิดเค เอ็มพลัส (K-MPLUS) ซึ่งอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ ของบลจ.กสิกรไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ