"สาเหตุที่ TPOLY ขายหุ้น TPCH ออกมา เพราะมีวัตถุประสงค์หลักสองข้อคือ ต้องการเงินทุน ใช้สำหรับการขยายธุรกิจในอนาคตและเพื่อล้างขาดทุนให้บริษัทมีกำไรและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท ในส่วนของ TPCH เองไม่ได้กังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะยังมีนักลงทุนสถาบัน กองทุนให้ความสนใจที่จะเข้ามาถือหุ้น TPCH ซึ่งตอนนี้เราก็ยังคงเปิดกว้างสำหรับคนที่สนใจจะเข้ามาถือหุ้นของ TPCH และที่สำคัญการขายหุ้นออกโดย TPOLY ได้ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเลือกขายนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนที่ต้องการถือลงทุนระยะยาวและต้องเป็นผู้ที่มีศักยภาพช่วยส่งเสริมเกื้อกูลธุรกิจของ TPCH ได้ด้วย"นายเชิดศักดิ์ กล่าว
เมื่อวานนี้ คณะกรรมการ TPOLY อนุมัติให้ขายหุ้น TPCH จำนวน 9.35% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ TPCH ให้แก่นักลงทุนที่สนใจโดยตรง และขายผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก โดยภายหลังการขายหุ้นในครั้งนี้ TPOLY จะถือหุ้นใน TPCH สัดส่วน 41.26% และบริษัทยังไม่มีแผนที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอีกในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากมีนโยบายที่จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน TPCH ไม่ต่ำกว่า 40%
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนคือก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ได้ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 โดยจะเน้นในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากมีประสบการณ์และความชำนาญในการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีการวาง กลยุทธ์บริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานในระยะยาวอีกด้วย
ปัจจุบัน TPCH มีบริษัทย่อยด้วยกัน 7 บริษัท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าแล้วมีกำลังการผลิตเสนอขายจำนวน 17 เมกะวัตต์ คือโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) และโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) อยู่ระหว่างขั้นตอนของการก่อสร้างมีกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมีกำลังการผลิตจำนวน 46 เมกะวัตต์
“อีก 3 ปี ภาพของ TPCH ก็จะเติบโตทั้งรายได้และกำไร โดยเป็นการเติบโตที่มั่นคงแน่นอน เพราะบริษัทฯมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แน่นอน ส่วนโรงไฟฟ้าที่ล่าสุดจ่ายไฟฟ้าได้แล้วและทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ทันทีคือ แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ออกมาในทิศทางที่ดี เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่คือระบบ Feed in Tariff (FiT) แทนที่ระบบ Adder"นายเชิดศักดิ์ กล่าว