ขณะที่มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 9,274.4 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,537.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 57 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 6.5 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 20.3 และรายได้อื่นร้อยละ 94.8 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.4 เป็นจำนวน 3,962.4 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 2.1
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิรายไตรมาสเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 498.4 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากไตรมาส 2 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 217.5 ล้านบาท และไตรมาส 1 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 130.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 58 และ 57 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 377.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เป็นผลจากการขยายสินเชื่อ (แต่หากไม่รวมผลจากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนกำหนดแล้วรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะเพิ่มขึ้นจำนวน 467.2 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.2 ) รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 189.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.3 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการให้บริการสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษาทางการเงิน และรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 971.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.8 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมบริหารเงินและรายได้เงินปันผล
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือนปี 58 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 57 เพิ่มขึ้นจำนวน 107.8 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.1 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าภาษีอากร ค่าตอบแทนกรรมการ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน สุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 57.3 ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 57 อยู่ที่ ร้อยละ 67.3 เป็นผลจากการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ร้อยละ 3.16 สำหรับงวด 9 เดือนปี 58 ในขณะที่งวด 9 เดือนปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.36 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำและต้นทุนเงินฝากที่สูงขึ้น
วันที่ 30 ก.ย.58 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 199.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.57 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 217.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากสิ้นปี 57 ซึ่งมีจำนวน 211.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91.9 จากร้อยละ 90.1 ณ วันที่ 31 ธ.ค.57
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.57อยู่ที่ร้อยละ 3.3 สืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 ก.ย.58 อยู่ที่ร้อยละ 89.2 ลดลงจากสิ้นปี 57 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 95.2 ส่วนเงินสำรองของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 30 ก.ย.58 อยู่ที่จำนวน 7.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 ก.ย.58 มีจำนวน 32.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 13.7 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 9.1