นายมนชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการผู้จัดการใหญ่ TOT เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการทีโอที ในวันที่ 20 ต.ค.58 ได้พิจารณา 2 เรื่องหลัก คือ การคัดเลือกพันธมิตรร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ (strategic partner)ตามแผนพลิกฟื้นองค์กรและลดปัญหาการขาดทุน รวมทั้วการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์(MHz)
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในทั้งสองเรื่องข้างต้น โดยในประเด็นการคัดเลือกพันธมิตร ได้มีการการเสนอ 3 วาระ คือ 1.แจ้งความคืบหน้าให้คณะกรรมการรับทราบหลังจากที่ได้มีการกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์การลงทุนรัฐร่วมกับเอกชน(PPP) 2.ขอให้คณะกรรมการอนุมัติการดำเนินการต่อในเรื่องการหาพันธมิตร และ 3.ขอให้อนุมัติให้ดำเนินการต่อในเรื่องของข้อพิพาทเสาโทรคมนาคม
นายมนชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้คัดเลือกเบื้องต้นเหลือเพียง 2 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยบริษัทฯจะเลือกผู้ประกอบการที่สามารถตอบโจทย์ได้มากที่สุด ส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศ 5 ราย ที่ยื่นข้อเสนอมา ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส, บริษัท โมบายแอลทีอี จำกัด, กลุ่มทรูฯ, บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น(SAMART) และ บมจ.ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกพันธมิตรไม่เกินกลางเดือน พ.ย.58 ส่วนข้อพิพาทเสาโทรคมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงค่าเช่า ก็คาดว่าจะสามารถสรุปได้อย่างเร็วที่สุดต้นเดือน พ.ย.นี้
ส่วนประเด็นการยื่นฟ้อง กสทช.ที่จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์(MHz) ขณะที่ทีโอทียืนยันว่ายังมีสิทธิครอบครองคลื่น 900 MHz นั้น คณะกรรมการยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ โดยมีคำสั่งให้ไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่มีต่อองค์กร รวมไปถึงอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งบริษัทฯจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งไปในวันที่ 30 ต.ค.58 นี้ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวจะต้องได้ข้อสรุปก่อนในประมูลคลื่นความถี่. 900 MHz หรือ วันที่ 12 พ.ย.58
นายมนชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯได้มีการแจ้งเพื่อทราบต่อคณะกรรมการในเรื่องของผลดีและผลเสียไปบ้างแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่าถ้ามีคลื่น 900 MHz อยู่กับทีโอทีจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง และหากไม่มีคลื่นดังกล่าวทีโอทีจะขาดประโยชน์อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต จึงให้ไปตรวจสอบสมมติฐานข้างต้นว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
"นโยบายตอนนี้ของคลื่น 900 MHz ของเราคือ เราต้องป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องหาวิธีเพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ซึ่งเรากำลังชั่งน้ำหนักว่าเราจะได้อะไร และเราจะเสียอะไรบ้าง ประกอบกับตอนนี้ก็มีตัวแปรใหม่เข้ามา คือเรื่องคลื่น 2300 MHz ที่ภาครัฐจะให้เรานำมาใช้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนของเงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้เราไม่สามารถเดินหน้าไปได้"นายมนชัย กล่าว
ด้านนายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที กล่าวว่า สหภาพฯยังคงย้ำจุดยืมเดิม โดยคลื่นความถี่ 900 MHz ยังเป็นสิทธิชอบธรรมของทีโอทีและจะเดินหน้าเรียกร้องให้คณะกรรมการอนุมัติยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป ซึ่งหากไม่อนุมัติเรื่องดังกล่าว ทางสหภาพฯจะเป็นผู้ดำเนินการเอง
ส่วนในเรื่องของคลื่น 2300 MHz ที่ภาครัฐจะให้ทีโอทีมาใช้เพื่อแลกกับคลื่น 900 MHz นั้น มองว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากการนำคลื่น 2300 MHz มาใช้ต้องมีการลงทุนสูงถึง 14 เท่าเมื่อเทียบกับคลื่น 900 MHz และต้องหาลูกค้าใหม่ ขณะที่คลื่น 900 MHz ถ้าอยู่กับทีโอทจะช่วยต่อยอดธุรกิจไปได้อีกมาก โดยเฉพาะหากนำมาใช้ควบคู่ไปกับคลื่น 2100 MHz ซึ่งจะใช้เงินลงทุนเพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น
"จุดยืนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ TOT ยังคงมีจุดยืนเหมือนเดิม คือนำคลื่น 900 MHz กลับมาให้ได้ และจะเดินหน้ายื่นฟ้องศาล หากบอร์ดไม่อนุมัติยื่นฟ้อง"นายอนุชิต กล่าว