ทริสฯคงเครดิต SINGER ที่“BBB"ยกเลิก“เครดิตพินิจ"แนวโน้ม“Developing"เป็น“Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 22, 2015 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)(SINGER) ที่ระดับ “BBB" พร้อมทั้งยกเลิก “เครดิตพินิจ" (CreditAlert) แนวโน้ม “Developing" หรือ “ไม่แน่นอน" ของอันดับเครดิตดังกล่าวและเปลี่ยนเป็นแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทคาดว่าจะยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทที่รู้จักเป็นอย่างดีในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนการมีเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฐานลูกค้าที่กระจายตัว คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และพนักงานขายที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรใหม่คือ บมจ.เจมาร์ท(JMART) และกลุ่มบริษัทสหพัฒนพิบูล (กลุ่มสหพัฒน์) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากคุณภาพเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะดำรงความมั่นคงของสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ให้ได้ตามแผน อีกทั้งผลประกอบการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและฐานะการเงินก็คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคุณภาพสินเชื่อจะได้รับการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเป็นไปได้หากบริษัทมีผลประกอบการดีกว่าที่คาดและสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นจากการมีฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งหลังจากมีความร่วมมือทางธุรกิจกับ JMART อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทลดลงไปมากกว่านี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 SINGER (THAILAND) B.V. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 40% ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งทำให้ JMART มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหลักรายใหม่ด้วยสัดส่วนหุ้น 24.99% ของบริษัท ตามด้วยกลุ่มสหพัฒน์ 7% และนักลงทุนอื่น ๆ อีก 8.01%

JMART ดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปเป็นผู้ให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ รวมถึงธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าด้วย ส่วนกลุ่มสหพัฒน์เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในประเทศไทย บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือที่มีกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้ง 2 รายดังกล่าว โดยในช่วงแรกนี้ บริษัทอาจจะมีรายได้อื่น ๆ จากการขายสินค้าผ่านเครือข่ายและสาขาของบริษัทอีกทางหนึ่ง

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มโดยการขายลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมดให้แก่ บริษัท ซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญในด้านธุรกิจการค้า (Trading) และกำลังขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยใช้ตราสินค้า “ซิงเกอร์" ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายควบคู่ไปกับเครือข่ายที่กว้างขวางด้วยจำนวนสาขา 214 แห่งและพนักงานขายประมาณ 3,500 คน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ในขณะที่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของบริษัทที่ซื้อสินค้าภายใต้ตราสินค้า “ซิงเกอร์"

ในปี 2553 บริษัทได้กลับมาให้ความสำคัญในการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานโดยใช้กลยุทธ์ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก บริษัทยังเพิ่มและเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่ผู้ซื้อด้วย เช่น ตู้แช่ เครื่องเติมเงินสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ ในเดือนมกราคม 2557 บริษัทได้ออกตราสัญลักษณ์ย่อย “SINGER Get Rich" เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่สนใจในสินค้ากลุ่มนี้

นอกจากนี้ ยังได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายโดยการตั้งมุมสินค้าของบริษัทในห้างแมคโครอีกด้วย โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์นี้คิดเป็น 55% ของยอดขายรวมในปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 41% ในปี 2555 และ 49% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ชะลอยอดขายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้จากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านคิดเป็น 62% ของยอดขายรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เมื่อเทียบกับ 38% ของยอดขายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

บริษัทยังคงรักษาจำนวนบัญชีสินเชื่อคงค้างอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนบัญชี 167,139 บัญชี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 หรือเพิ่มขึ้น 0.6% จาก 166,123 บัญชีในปี 2557 ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กนี้จัดว่ามีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มดั้งเดิมของบริษัท นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มใหม่ของบริษัทยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ลูกค้ากลุ่มใหม่นี้ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าและยกระดับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมได้ด้วย อนึ่ง ความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสร้างความมั่นคงให้แก่สถานะทางการตลาดและเพิ่มผลประกอบการยังต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ต่อไป

ลูกหนี้เช่าซื้อของบริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่และผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ โดยมูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,295 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 2,180 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายควบคุมสินเชื่อขึ้นในปลายปี 2551 เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ใบสมัครสินเชื่อ รวมทั้งแยกอำนาจการอนุมัติสินเชื่อออกจากพนักงานขายเพื่อสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์และมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพของลูกหนี้เช่าซื้อ อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงที่ 34.2% ในปี 2550 เป็น 4.3% ณ สิ้นปี 2555

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้อัตราส่วนดังกล่าวมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2556 และ 6.5% ในปี 2557 อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมปรับตัวดีขึ้นเป็น 6.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเน้นจำหน่ายสินค้าบางประเภทโดยเฉพาะเท่านั้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะกระจายฐานลูกค้าตามประเภทสินค้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวด้วยเช่นกัน

สถานะทางการเงินของบริษัทได้รับผลกระทบในปี 2549 จากหนี้เสียของสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้มากขึ้น การเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเก็บเงิน การลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และการขยายประเภทสินค้าและฐานลูกค้า ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 321 ล้านบาทในปี 2556 จากที่มีผลขาดทุน 10 ล้านบาทในปี 2552

อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับตัวลดลงเป็น 241 ล้านบาทในปี 2557 และ 103 ล้านบาทสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับ 170 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันในปี 2557 อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นจากคุณภาพลูกหนี้ที่ถดถอยลง ส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มเป็น 10.8% ในปี 2556 จาก 6.6% ในปี 2554 อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวลงเล็กน้อยเป็น 7.3% ในปี 2557 และ 6.1% สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2558 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ฐานทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,578 ล้านบาทในปี 2557 จาก 848 ล้านบาทในปี 2553 และปรับตัวลงเล็กน้อยเป็น 1,538 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงเป็น 42.03% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งอัตราส่วน ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่เพียงพอให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ