"สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อบริษัทน้ำมันทั่วโลก หลายบริษัทต้องบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ในโครงการลงทุนต่างๆ ปตท.สผ. ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันตามที่ปรากฏในผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ทั้งนี้การด้อยค่าสินทรัพย์เป็นการปรับมูลค่าสินทรัพย์ให้สะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของบริษัท และหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต สินทรัพย์จะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีซึ่งจะสะท้อนผ่านผลกำไรที่ดียิ่งขึ้น"นายสมพร กล่าว
สำหรับในไตรมาส 3/58 PTTEP มีผลขาดทุนสุทธิ 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/57 ที่มีกำไรสุทธิ 477 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.53 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ จำนวน 1,385 ล้านเหรียญสหรัฐจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ขณะที่มีรายได้จากการขายลดลง 597 ล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเป็น 44.55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 65.15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในงวดปีก่อน แม้ว่าปริมาณการขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.32 แสนบาร์เรล/วัน จาก 3.25 แสนบาร์เรล/วันในงวดปีก่อนก็ตาม
นายสมพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในไตรมาสนี้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 264 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 194 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากทั้งโครงการในประเทศไทย และโครงการในประเทศเมียนมาร์ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายรวมต่อบาร์เรลที่ขาย (unit cost) ที่ลดลงจากไตรมาสที่แล้วถึง 8% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการลด ละ เลื่อน (SAVE to be SAFE) แต่เมื่อรวมรายการจากการบันทึกค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring)
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในระยะสั้น บริษัทมองว่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังคงมีอุปทานส่วนเกินในตลาด โดยที่ปัจจัยกดดันราคามีโอกาสจะคลี่คลาย หากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว รวมถึงปริมาณการผลิตจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทจึงยังคงมุ่งเน้นแผนการลดต้นทุนการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดทำแผนจำลองสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับราคาต่างๆ เพื่อจัดเตรียมแผนการบริหารความเสี่ยงให้มีความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์อีกด้วย
"อย่างไรก็ดีในสภาวะราคาน้ำมันตกต่ำนั้น อาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับปตท.สผ. ซึ่งมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ในการเข้าซื้อกิจการในราคาที่เหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้บริษัทยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้นโครงการที่กำลังจะผลิต หรือที่ผลิตแล้ว ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปกติของบริษัทยังถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกปี 58 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ในการลงทุนตามแผนงานเพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียม ในขณะที่ยังมีเงินสดในมือกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรองรับโอกาสการเข้าซื้อกิจการที่เหมาะสม นอกจากนี้ แหล่งเบอร์ซาบา ในประเทศแอลจีเรีย จะสามารถจำหน่ายน้ำมันดิบได้ไตรมาส 4 ซึ่งขณะนี้โครงการได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการทดสอบระบบการผลิตแล้ว
จากแนวโน้มความผันผวนของราคาน้ามันและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในไตรมาส 4/58 บริษัทได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการจัดทำแผนจำลองสถานการณ์ราคาน้ามันดิบและอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ระดับราคาต่างๆ เพื่อจัดเตรียมแผนการบริหารความเสี่ยงให้มีความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ รวมทั้ง บริษัทยังคงด้าเนินการตามแผนงานของโครงการ SAVE to be SAFE อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการด้าเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับการบริหารจัดการทางการเงินนั้น ปตท.สผ.ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ และมีสภาพคล่องที่สามารถรองรับกับสภาวะราคาน้ำมันและเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังมีการประเมินสถานะและความมั่นคงทางการเงินของคู่สัญญา เพื่อประเมินความเสี่ยง (counter party risk) เพื่อวางแผนรองรับให้เหมาะสม
ทั้งนี้ ปตท.สผ.มองแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 4/58 ว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะยังคงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจัยลบยังคงต่อเนื่องมาจากอุปทานส่วนเกินในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน จากทั้งงกลุ่มโอเปกที่ยังคงไม่ลดก้าลังการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางตลาดและกลุ่มนอกโอเปกที่ยังคงผลิตในระดับสูง ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะทรงตัวอยู่ในระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องความคืบหน้าในการเจรจาด้านนิวเคลียร์ระหว่างชาติมหาอำนาจและอิหร่าน โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะผลักดันข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านจะถูกยกเลิกและส่งผลให้อิหร่านสามารถเพิ่มการส่งออกน้ามันดิบประมาณ 0.5 ล้านบาร์เรล/วันได้ภายในกลางปีหน้า
ส่วนของปัจจัยลบทางด้านอุปสงค์ ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจจีนที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI)ในเดือนกันยายนปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ท้าให้มีการปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีหน้า รวมทั้งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากกำลังการผลิตน้ามันดิบในสหรัฐที่ชะลอลงตั้งแต่ไตรมาส 2/58 อีกทั้งจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบกลับมาลดลงอีกครั้ง ทำให้คาดว่าอุปทานจากสหรัฐฯจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
และยังต้องจับตามองธนาคารกลางยุโรป ที่มีความเป็นไปได้ที่จะขยายวงเงินและระยะเวลาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing, QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท แม้ส่วนใหญ่จะไม่มีผลต่อกระแสเงินสดก็ตาม คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงถึงระดับ 36.5 บาท/ดอลลาร์ หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FOMC ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้