KBANK เผยปี 59 ยังรุก IPO-M&A ต่อเนื่องมองตลาดหุ้นฟื้น แม้ปีนี้รายได้ IB พลาดเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 27, 2015 09:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ยังเดินหน้ารุกงานวาณิชธนกิจ (IB) โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีดีลกอง REIT ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 2 กอง มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ดีล IPO หมดสิทธิลุ้นในปีนี้หลังตลาดหุ้นไม่คึกคัก รับผลเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะตลาดไม่เอื้อส่งผลให้ความต้องการระดมทุนในตลาดหุ้นทุนไทยลดลง แต่เชื่อปีหน้าภาพตลาดกลับมาคึกคัก หลังผ่านจุดต่ำสุดในปีนี้แล้ว โดยปีหน้ามีดีล IPO ในมือแล้ว 7-8 ดีล มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หนุนรายได้วาณิชธนกิจปีหน้าโต 20-30% จากปีนี้

นายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้บริหารกลุ่มวาณิชธนกิจ KBANK เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีธนาคารยังมีดีลกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีก 2 กอง มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นกอง REIT ที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน 1 กอง กอง REIT ที่ลงทุนในคลังสินค้าอีก 1 กอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้บริษัทได้ออกกอง REIT ไปจำนวน 1 กอง คือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอมตะซัมมิทโกรท (AMATAR) มูลค่ากอง 3.5 พันล้านบาท

ส่วนดีลเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) ในช่วงที่เหลือของปีที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นไม่มีแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้นำ IPO จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปทั้งหมดแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์(JWD) และบมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท

สำหรับรายได้กลุ่มวาณิชธนกิจของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะพลาดเป้าหมายและต่ำกว่าปีก่อนที่รายได้อยู่ที่ 700 ล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกปีนี้ กลุ่มวาณิชธนกิจทำรายได้ได้เพียง 400 ล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวยมากนัก ประกอบกับเผชิญกับความผันผวนของตลาดทุนจากภายนอกที่ส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งมาจากปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และการเมืองในบางประเทศมีความขัดแย้ง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัวอีกด้วย ส่งผลให้ความต้องการระดมทุนในตลาดทุนไทย และการทำดีลการซื้อกิจการ (M&A) ต่างๆชะลอออกไป เพื่อรอดูจังหวะที่ตลาดกลับมาดีขึ้น

อย่างไรก็ตามธนาคารประเมินว่าภาพรวมของตลาดทุนไทยในปี 59 จะค่อยๆกลับมาดีขึ้น หลังจากมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ตลาดทุนไทยถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่หากยังมีปัจจัยลบอยู่ที่ยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดทุนไทยนั้นก็คาดว่าจะไม่แย่เท่ากับปีนี้อย่างแน่นอน อีกทั้งปัจจุบันบริษัทต่างๆยังมีความต้องการใช้เงินอยู่ โดยช่องทางที่ได้รับความสนใจมากที่สุดยังเป็นการเสนอขายหุ้น IPO นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลัทรัพย์

โดยในปี 59 กลุ่มวาณิชธนกิจของธนาคารมีดีล IPO ที่แน่นอนแล้วและพร้อมเสนอขายจำนวน 7-8 ดีล มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทโดยเป็นบริษัทที่อยู่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งพลังงานเพื่อการสาธารณูปโภค (Conventional Energy) และพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนซูเมอร์ อีกทั้งในปี 59 ธนาคารยังดีลกอง REIT ประเภทลงทุนในโรงแรมอีก 1 กอง ซึ่งเป็นกองที่เลื่อนเสนอขายมาจากปีนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาราคาเสนอขายสินทรัพย์อยู่ ทำให้ยังไม่สามารถระบุมูลค่ากองได้ในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้ตั้งเป้ารายได้ของกลุ่มวาณิชธนกิจเติบโต 20-30% ในปีหน้า

"IPO ปีหน้าก็ยังคงน่าสนใจอยู่ เพราะหลายๆบริษัทมีความต้องการระดมทุนในตลาดฯค่อนข้างมาก แต่ภาวะตลาดในปีนี้ไม่เอื้ออำนวยทำให้ชะลอกันไปก่อน จริงๆแล้ว IPO มีหน้าต่างในการเข้าตลาดปีหนึ่งประมาณ 2-3 ช่วงต่อปี ก็คือ ช่วงหลังสงกรานต์ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สำหรับปีหน้าตลาดหุ้นไทยมองว่าถ้ายังมีปัจจัยลบๆอยู่ก็คงไม่แย่ไปกว่าปีนี้ และก็มีแนวโน้มที่จะค่อยๆฟื้น เพราะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีนี้ ปีหน้าก็คาดว่าคงไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ผิดปกติมาก น่าจะเห็นความชัดเจนต่างๆมากขึ้นทำให้ Sentiment ต่างๆกลับมาดี"นายสิทธิไชย กล่าว

นายสิทธิไชย กล่าวว่า ด้านดีล M&A ในปีหน้าธนาคารยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 59 อีกกี่ดีล เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนและความเสี่ยงต่างๆ ทำให้การทำดีล M&A ที่ธนาคารทำให้บางดีลยกเลิกได้ แต่ธนาคารจะเน้นการทำดีล M&A ที่มีมูลค่าขนาดใหญ่ ประกอบกับการเน้นการทำดีลที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมองว่ามีลูกค้าสนใจที่ต้องการซื้อกิจการในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าและกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทั้งนี้การทำดีล M&A ที่มีมูลค่าขนาดใหญ่และดีลที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะช่วยเข้ามาสนับสนุนรายได้ของกลุ่มวาณิชธนกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายนอกเหนือจากรายได้ที่ได้จากการทำดีล IPO การทำดีลกองรีท เป็นต้น

"ดีล M&A มันไม่แน่ไม่นอน เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้พูดยากมากว่าปีหน้าจะได้เห็นสักกี่ดีล เพราะบางดีลศึกษาไปแล้วไม่คุ้มค่า บางรายคู่ค้ายกเลิกก็มี ตรงนี้ถ้าดีลทำแล้วไม่สำเร็จเราก็ไม่มีรายได้เข้ามา ธุรกิจเรารายได้ที่เข้ามาเป็นรายได้ค่าธรรมเนียม รายได้จะเข้ามาดีลจะต้องสำเร็จเราถึงจะมีรายได้ แต่ปีหน้าก็จะเน้นดีลขนาดใหญ่และเน้นดีลที่ขยายไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับเราได้ค่อนข้างมาก"นายสิทธิไชย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ