ฟิทช์คงอันดับเครดิต ADVANC ที่ ‘BBB+’/ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 27, 2015 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)หรือ AIS ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ AIS ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การเติบโตของรายได้ในระดับต่ำ: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการของ AIS ในปี 2558 และ 2559 น่าจะเติบโตในระดับ 2%-3% ต่อปี เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ 1.2% ในปี 2557 การเติบโตของรายได้จากการให้บริการของ AIS น่าจะได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice revenue) ที่น่าจะยังคงแข็งแกร่งในระดับ 25%-30% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามรายได้จากการให้บริการด้านเสียงของ AIS น่าจะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 10%-15% ต่อปีในช่วงสองปีข้างหน้า เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในขณะที่ตลาดอยู่ในภาวะอิ่มตัว

ความแข็งแกร่งด้านการให้บริการด้านข้อมูล: AIS น่าจะยังคงได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น จากการเติบโตของการใช้บริการด้านข้อมูล เนื่องจากคุณภาพโครงข่ายที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่น AIS ได้มีการลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G อย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้คุณภาพการให้บริการด้านข้อมูลปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่มีบริการ 4G การเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่เสียง ของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ที่ไม่ใช่เสียงของ AIS ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็น 50.4% ในไตรมาสที่สองของปี 2558 จาก 49.3% ในไตรมาสที่สองของปี 2557

การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร: ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยจะยังคงใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายที่รุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 และปี 2559 ทั้งในรูปแบบการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Handset subsidy) และการเสนอแพ็คเกจการใช้งานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (Unlimited data offering) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกำไรของผู้ประกอบการ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด (Marketing expense) และส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้น น่าจะลดทอนผลประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ที่ปรับตัวลดลงของผู้ประกอบการ ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ AIS ในปี 2558 จะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2557 ที่ 45%

ความคล่องตัวในการรองรับการลงทุน: กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS น่าจะติดลบในปี 2558 และ 2559 จากเงินลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องสำหรับการขยายเครือข่าย 3G และการลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่ อัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Financial Leverage) ของ AIS น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่า สถานะทางธุรกิจและทางการเงินของ AIS จะยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบันของ AIS น่าจะช่วยลดผลกระทบจากการลงทุนที่สูง โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) อยู่ที่ระดับ 0.6 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2558

ผู้นำตลาด: AIS สามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับสูงกว่า 50% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2557: 52.7%) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จากการเชื่อมโยงเครือข่าย) เติบโต 2%-3% ต่อปี ในปี 2558 และ 2559 - EBITDAR margin ในปี 2558 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ 45% และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 เป็นต้นไป - เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3.0-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2558 และ 2559 - บริษัทมีการลงทุนคลื่นความถี่ใหม่ 900MHz และ 1.8GHz ในปี 2558 - จ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยลบ - การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท ส่วนปัจจัยบวก - บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวก - EBITDAR Margin ของบริษัทสูงกว่า 45% อย่างต่อเนื่อง (ในปี 2557 อยู่ที่ 45%)

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ AIS น่าจะยังคงแข็งแกร่งถึงแม้ว่าบริษัทน่าจะมีกระแสเงินสดสุทธิติดลบในปี 2558 และ 2559 สภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูงที่ 9.1 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสองของปี 2558 กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน และนักลงทุน AIS มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2558 ในระดับต่ำที่ 3.3 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ