ทั้งนี้ เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 9,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามส่วนต่างราคาของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในระหว่างงวดจะมีขาดทุนจากรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำรวม 3,630 ล้านบาท ได้แก่ ขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ จำนวน 2,160 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,470 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 58 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 333,992 ล้านบาท ลดลง 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคา Naphtha และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง โดยเอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 33,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจเคมีภัณฑ์มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น
ณ วันที่ 30 ก.ย.58 เอสซีจีมีสินทรัพย์รวม เท่ากับ 507,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 57 จำนวน 41,443 ล้านบาท
SCC ยังรายงานว่า ในไตรมาส 3/58 ตลาดปูนซีเมนต์โดยรวมในประเทศยังคงหดตัวราว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากภาคครัวเรือนที่หดตัวประมาณ 7% แม้ว่าภาครัฐจะเติบโตถึง 11% ในไตรมาสนี้ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีปริมาณขายปูนซีเมนต์ในประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโดยรวม โดยราคาปูนซีเมนต์ยังอยู่ในช่วงเดียวกันกับไตรมาสก่อนที่ราคา 1,850-1,900 บาทต่อตัน ส่งผลให้ปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในประเทศในช่วง 9 เดือนของปี 58 ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาส 3/58 เท่ากับ 0.8 ล้านตัน ลดลง 0.1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีราคาขายส่งออกเฉลี่ย FOB อยู่ที่ระดับ 65 เหรียญสหรัฐต่อตัน การส่งออกปูนซีเมนต์ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ถุงคิดเป็น 83% ของปริมาณการส่งออกรวม (ไตรมาสที่ 2/58 คิดเป็น 78% ของปริมาณการส่งออกรวม)