นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้จะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 40 ล้านตันในปีก่อน ลดลงจากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3% เนื่องจากความต้องการใช้ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 0.5% โดยความต้องการใช้ในส่วนของภาคที่อยู่อาศัยและภาคการพาณิชย์หดตัว มีเพียงการใช้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่าความต้องการใช้จะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยได้เท่านั้น จากที่คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆออกมา
“มาตรการรัฐที่ออกมาต้องดูที่ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเอาจริง อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ไตรมาส 3 ดีมานด์ติดลบ 1% อ่อนตัวจากที่คาดไว้ เพราะเดือนกันยาฯฝนตกด้วยและต่อเนื่องถึงเดือนตุลาฯ…มั่นใจไตรมาส 4 ภาครัฐยังขับเคลื่อนต่อ รอความมั่นใจของภาคที่อยู่อาศัย และ commercial ก็จะดีขึ้นกลับมาสร้างคอมเพล็กซ์ต่างๆมากขึ้น “นายกานต์ กล่าว
นายกานต์ เห็นว่าเมื่อความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นของภาคที่อยู่อาศัยและภาคพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ปูนซีเมนต์จำนวนมากนั้น ก็จะทำให้เกิดการสร้างโครงการต่างๆ ตามมา และจะทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปีหน้าเพิ่มขึ้นแน่นอน
สำหรับด้านการส่งออกปูนซีเมนต์ของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะเท่ากับหรือเพิ่มขึ้นอีกราว 1 แสนตัน จากปีก่อนที่มีการส่งออกราว 4 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เป็นต้น คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในอาเซียนยังคงเติบโตมาก ทั้งในกัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม มีเพียงอินโดนีเซียที่อยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย
ทั้งนี้ โครงการลงทุนสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ของกลุ่มบริษัทในอาเซียน ยังคงเป็นไปตามแผน โดยโรงงานแห่งที่ 2 ในกัมพูชา ขนาดราว 9 แสนตัน/ปี ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว ส่วนโรงงานในอินโดนีเซีย ขนาด 1.8 ล้านตัน/ปี จะเริ่มผลิตในปลายปีนี้ ขณะที่โรงงานในเมียนมาร์ และลาว ที่มีกำลังการผลิตแห่งละ 1.8 ล้านตัน/ปีนั้น จะเริ่มผลิตในกลางปี 59 และปี 60 ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมองโอกาสการขยายลงทุนโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 2 ขนาด 1.8 ล้านตัน/ปี ในอินโดนีเซีย เพราะตลาดมีขนาดใหญ่มากแม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลายก็ตาม โดยอาจจะเป็นการเข้าซื้อกิจการ หรือการสร้างใหม่
นายกานต์ ยังมั่นใจว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะทำได้เกินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ยอดขายทั้งปีจะลดลงเกือบ 10% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ราว 4.4 แสนล้านบาทก็ตาม โดยยอดขายที่ลดลงเป็นผลจากราคาปิโตรเคมีที่ลดลง 26-27% ตามทิศทางของราคาน้ำมัน แต่สเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังแข็งแกร่ง โดยคาดว่าทั้งปีนี้สเปรดผลิตภัณฑ์หลักอย่าง HDPE-แนฟทา และ PP-แนฟทา จะอยู่ที่ราว 700-750 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าปีที่แล้ว
โดยคาดว่าในไตรมาส 4/58 กำไรสุทธิจะมากกว่าระดับ 9 พันล้านบาทในไตรมาส 3/58 เป็นผลจากสเปรดปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับสูง จากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงปลายปี และคาดว่าราคาน้ำมันและราคาปิโตรเคมีจะกลับมาอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดกำไรจากสต็อกผลิตภัณฑ์(stock gain) จากไตรมาส 3/58 ที่มีผลขาดทุนจากสต็อก (stock loss) ราว 2.16 พันล้านบาท
นายกานต์ เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีจะยังคงโดดเด่นและข่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทต่อเนื่องในปี 59-61 จากกำลังการผลิตใหม่ของโลกที่ออกมาน้อยกว่าที่คาด
ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม โดยคาดว่าจะสรุปแผนลงทุนและแผนการเงินได้ทั้งหมดในช่วงไตรมาส 1/59 โดยเบื้องต้นคาดว่ามูลค่าโครงการอาจจะมากกว่าเดิมที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเล็กน้อย หลังล่าสุดกระบวนการยื่นเสนอราคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็จะมีการเจรจาต่อรอง และพิจารณาเรื่องการเงินก่อนจะสรุปโครงการได้ชัดเจนต่อไป
“ปิโตรเคมียังเป็นพระเอกที่จะทำผลกำไรกลับมาให้เครือในปี 2016-2017 และข้อมูลล่าสุดมีแนวโน้มดีขึ้นเพราะกำลังการผลิตใหม่ที่จะออกมาในปี 2018 ออกมาน้อยลง ทำให้คาดว่ามีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องถึงปี 2018 แต่ปี 2016-2017 นี่แน่นอนอยู่แล้ว"นายกานต์ กล่าว
นายกานต์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มบริษัทมุ่งที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) โดยมีเป้าหมายจะมียอดขายสินค้า HVA ในระดับ 50% ของยอดขายรวมในอนาคต จากล่าสุด 9 เดือนแรกปีนี้มียอดขายสินค้า HVA คิดเป็น 37% ของยอดขายรวม โดยสินค้า HVA สามารถสร้างมาร์จิ้นได้สูงกว่าสินค้าทั่วไป (commodity) ซึ่งเป็นส่วนหนี่งที่ทำให้กำไรของกลุ่มบริษัทยังแข็งแกร่ง ในภาวะที่รายได้จากการขายลดลงด้วย
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน บริษัทได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าจาก"ตราช้าง"เป็น"เอสซีจี" ตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้ เพื่อให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่าย และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับองค์กร ทำให้แบรนด์เอสซีจีมีพลังและแข็งแกร่งขึ้น
พร้อมกันนั้น นายกานต์ กล่าวว่า เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน บริษัทได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าจาก"ตราช้าง" เป็น "เอสซีจี" ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่าย เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับองค์กร ทำให้แบรนด์เอสซีจี มีพลังและแข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย.58 นี้เป็นต้นไป
ที่ผ่านมา "ตราช้าง" เป็นแบรนด์ที่ใช้ในประเทศและประเทศลาวขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนจะใช้ชื่อ"เอสซีจี" เป็นแบรนด์หลักในการทำตลาดซึ่งได้รับการยอมรับอย่างดีทั้งในเรื่อความน่าเชื่อถือและคุณภาพสินค้าระดับพรีเมี่ยม การเปลี่ยนชื่อจาก "ตราช้าง" เป็น "เอสซีจี" จะเป็นอีกกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้นำธุรกิจทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง