นายวีรศักดิ์ ชัยสุพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ CSP เปิดเผยว่า ผลประกอบการปีนี้คงยังเป็นการขาดทุนสุทธิ เนื่องจากปริมาณขายเหล็กลดลง 10% จากปีก่อน ประกอบกับราคาขายเหล็กลดลงมากกว่า 20% อีกทั้ง บริษัทมีสต็อกที่ต้นทุนสูงจำนวนมาก ทำให้ขาดทุนจากสินค้าด้อยค่า โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีราคาขายเหล็กปรับลดลงมากกว่า 10% ตามราคาในตลาดโลก ทำให้ครึ่งแรกของปีมีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมปีนี้น่าจะทำได้เพียง 2,700 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 3,800 ล้านบาท หรือลดลงมากกว่า 20% ตามปริมาณขายลดลงและราคาเหล็กที่ผันผวน
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2558 และรายได้รวมปี 2558 น่าจะชะลอตัวกว่าปี 57 เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงที่ผ่านมาเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีกำลังซื้อต่ำและราคาเหล็กผันผวน
อนึ่ง ปี 57 มีรายได้ 3,866 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าในปี 59 จะกลับมาเทิร์นอะราวด์ โดยจะเริ่มพลิกเป็นกำไรสุทธิตั้งแต่ไตรมาส 1/59 พร้อมกับตั้งเป้าปริมาณขายเหล็กเติบโต 10-15% จากปีนี้ที่ 1.2 แสนตัน โดยคาดว่ากำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นตอบรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องใช้เหล็กจำนวนมาก ขณะที่ราคาขายก็คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีนี้ที่ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 15 บาท/ก.ก.ลดลงจากปกติที่ 22 บาท/ก.ก. แต่ราคาเหล็กก็คงจะไม่ได้ปรับขึ้นไปได้มาก เพราะซัพพลายจากจีนยังล้นตลาด
บริษัทคาดว่ารายได้รวมปี 59 จะเติบโต 10-15% ตามปริมาณขาย และหวังจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่เพิ่มเข้ามาในสัดส่วนราว 30% ของรายได้รวม ได้แก่ การขายเหล็กให้กับผู้ผลิตเสาโทรคมนาคม 4G เหล็กเพื่อใช้ในธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์ม โดยคาดว่าปีหน้าในประเทศมีความต้องการใช้เสาโทรฯ ราว 30,000 ต้น คิดเป็นมูลค่าเหล็กที่ต้องใช้ 6,000 ล้านบาท บริษัทคาดหวังมูลค่าเหล็กที่เราจะขายให้ 10% ของมูลค่าดังกล่าว
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขายสินค้ากับผู้ผลิตเสา 4G และผู้ประกอบการพลังงานทดแทนคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในเร็วๆ นี้ และการรับรู้รายได้ก็จะเริ่มในปลายปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ปีหน้าสัดส่วนรายได้จะมาจากศูนย์บริการเหล็ก(รวมเหล็กเกรดพิเศษ)ราว 70% ธุรกิจใหม่ 30% จากปีนี้รายได้รวมมาจากศูนย์บริการฯเกือบทั้ง 100%
"ไตรมาส 1/59 ก็น่าจะเริ่มเห็นเป็นกำไรสุทธิ เพราะสต็อกสินค้าราคาถัวเฉลี่ยหมดแล้ว โปรเจกต์ใหม่มีรายได้เพิ่ม ก็จะดันมาร์จินขึ้น โดยปี 59 คาดอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย(Net profit margin) จะอยู่ที่ 7-8% จากศูนย์บริการเหล็กราว 4-5% บวกกับมาร์จินธุรกิจใหม่ เฉลี่ยแล้วก็น่าจะอยู่ที่ 7-8% จากปีนี้ที่ขาดทุน"นายวีรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศ 2-3 รายที่เป็นบริษัทมหาชนในลักษณะการเป็นคู่ค้า เพื่อขายเหล็กให้กับผู้ประกอบการดังกล่าวในการออกไปรับงานในประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)คาดว่าจะสรุปได้ภายในปลายปี 58 และจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นปี 59 ขณะนี้อยู่ระหว่างตกลงเรื่องราคาและการพัฒนารูปแบบ โดยหารือกับผู้ประกอบการที่จะไปลงทุนในพม่า
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กยังคงชะลอตัว ตามภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่ราคาเหล็กในประเทศเองค่อนข้างผันผวนโดยถูกกดดันจากตลาดโลกที่อยู่ในภาวะขาลง บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สามารถสร้างการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมน้อยที่สุด โดยเน้นมุ่งเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม รักษามาตรฐานการบริการ เลือกผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสีย ให้ความระมัดระวังการบริหารความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาเหล็กพร้อมกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ที่เน้นสินค้าคุณภาพ
"อุตฯเหล็กมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ตามนโยบายการลงทุนโครงการภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมและก่อสร้างเพิ่มขึ้น อาทิ เสาเทเลคอม 4G และงานเสา LED ชนิดพิเศษ ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูลงานติดตั้งเสาเทเลคอม 4G ด้วยเช่นกัน"นายวีรศักดิ์ กล่าว