ต่อมาเมื่อต้นต.ค.นี้ ADVANC ได้ทำหนังสือส่งมอบอุปกรณ์คืน และ ทีโอทีได้ตั้งคณะทำงาน 9 คณะเพื่อตรวจรับมอบคืนแต่ละพื้นที่โดยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 9 คนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยแบ่งเป็นกรุงเทพ 4 คน และตามภูมิภาค 5 คน โดยมีสินทรัพย์สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ 2G, GSM, 3G
"เราเริ่มไปตรวจจริงวันนี้แล้ว และได้สอบถามไปยังอัยการเรื่องนี้ซึ่งได้คำตอบว่า ให้ตรวจรับมอบไปก่อน ตรงไหนไม่ตรงกันให้มารวมกันเรียกร้องทีเดียว คาดว่าใช้เวลาตรวจเสร็จอีก 1 เดือนหรือพ.ย.นี้"นายมนต์ชัย กล่าว
ส่วนกรณีทีโอทีจะดำเนินการฟ้องหรือไม่ฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ที่นำคลืนความถี่ 900MHz ไปประมูลหรือไม่นั้น รักษากรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว คณะกรรมการทีโอทีเมื่อ 30 ต.ค.ที่ผ่านมาเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้องอยู่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการตีความสิทธิของทีโอทีในคลื่น 900 MHz จึงเห็นตรงกันว่า ประเด็นข้อกฎหมายยังไม่ชัดเจน ต้องทำให้ชัดเจนในเรื่องสิทธิของทีโอที ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งต้องหาหลักฐานเรียบเรียงทุกมุมเสนอให้บอร์ดรับทราบ โดยบอร์ดให้ไปดูกฎหมายตั้งแต่พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ อาทิเช่น พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 42 พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม ปี 44 พ.ร.บ. กสทช. เป็นต้น
"จะพยายามให้เสร็จทันก่อน 12 พ.ย. ที่แน่ๆเราต้องทำเสร็จให้เร็วเพราะมีผลต่อรายได้ ยิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส" นายมนต์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนแรกปี 58 ทีโอที มีผลขาดทุน 1.2 พันล้านบาท EBITDA ติดลบ 1,078 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 7 พันล้านบาท
รักษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ถึงกรณีที่กสทช.ให้ทีโอทีใช้คลื่น 2300 MHz ใช้งาน 10 ปีนั้น เบื้องต้นทีโอทีจะนำไปปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้รองรับ Fixed Wirless Broadband ที่จะช่วยทำให้บรอดแบนด์ของทีโอทีมีความเร็วสูงขึ้น คาดจะติดตั้งอุปกรณ์รองรับ 5 แสนพอร์ต คาดใช้เงินลงทุน 5 พันล้านบาท ที่คาดว่าจะนำงบลงทุนในปี 59 มาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันธุรกิจบรอดแบนด์
ด้านนายกำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ ทีโอที เปิดเผยว่า ทีโอทีจะร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ศึกษาการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในโครงการท่อร้อยสาย โดยคาดว่าจะระดมทุน 1 หมื่นล้านบาท แบ่งใช้ลงทุนโครงการท่อร้อยสาย 6-7 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือนำไปใช้หนี้คืนที่จะกู้มาซื้อหน่วยลงทุนกองทุนดังกล่าว โดยคาดว่าจะคัดเลือกที่ปรึกษา(FA)ได้ในไตรมาส 1/59 หลังจากที่คณะกรรมการทีโอทีอนุมัติแล้วนำเสนอเรื่องต่อก.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)หรือ ซุปเปอร์บอร์ดเพื่ออนุมัติ รวมทั้งขอนุมัติจัดตั้งกองทุนดังกล่าวกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายได้ในปลายปี 59
โครงการท่อร้อยสาย ทีโอทีได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ โดยทีโอทีจะนำสายโทรคมนาคมตามถนนในเขตกรุงเทพที่ตั้งอยู่บนถนนมาไว้ใต้ดิน ซึ่งเบื้องต้นจะนำสายโทรคมนาคมที่มีอยู่ลงดินตามเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)จะนำสายไฟฟ้าลงดินในกรุงเทพ ระยะทาง 261 กม. โดยปัจจุบันสายโทรคมนาคมเป็นของทีโอทีประมาณ 2 หมื่นกม. และเป็นของ CAT ประมาณ 1 หมื่นกม. โดยทีโอทีจะนำลงใต้ดินเพิ่มอีกราว 2,600 กม.ในเขตกรุงเทพ ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีเอกชนเช่าใช้สายโทรโทรคมนาคมของทีโอทีอยู่ซึ่งทำรายได้ปีละประมาณ 400-500ล้านบาท หากมีการขยายเพิ่มเติมจะทำให้ทีโอทีมีรายได้เข้ามาปีละ 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทีโอทีจะนำรายได้ในอนาคตขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้น ทั้งนี้ ทีโอทีมีแผนที่จะเพิ่มสายโทรคมนาคมทั่วประเทศจำนวน 25,000 กม. ในอนาคต