"การชะลอตัวของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในรอบนี้เป็นการหดตัวที่ยาวนาน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะสั้น ส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 59 จะมีทิศทางที่ทรงตัวหรือหดตัวลงเล็กน้อยจากในปีนี้ ภายในกรอบ 0 ถึงติดลบ 2%
นายสุรัตน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในช่วงนี้ คาดว่าจะยังต้องเผชิญภาวะเสี่ยงจากตลาดรถยนต์ในประเทศที่แม้ว่าจะพอมีโอกาสขยายตัว หลังรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และสนับสนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ท่องเที่ยว ยานยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ไอที และอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่ากลุ่มอื่น
รวมถึงในจังหวัดหรือพื้นที่ที่รัฐบาลมีการสนับสนุนการลงทุน เช่น ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ซึ่งก็อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เพิ่มมากขึ้นได้ โดยกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ก่อนรถยนต์ส่วนบุคคล ทว่าการฟื้นตัวน่าจะดำเนินไปอย่างช้าๆ เมื่อปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อตลาดรถยนต์ในประเทศยังคงดำเนินอยู่ ทั้งการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่น่าจะยังเข้มงวด และปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรโดยตรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคารถยนต์ในปีหน้ามีการปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ในช่วงต้นปี
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ถดถอยลง ทำให้ยอดสินเชื่อทั้งระบบมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 57 ขยับขึ้นเป็น 2.6% ณ เดือน มิ.ย. 58 แม้คาดว่าต่อจากนี้จะมีทิศทางที่ทรงตัวถึงลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ตัดหนี้สูญออกไปจำนวนมาก แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยในปี 59 ทำให้การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อไป นอกจากนี้ การก่อหนี้ครัวเรือนในระดับสูงยังไม่ถูกปลดล็อกจนกว่าภาระหนี้เดิมหมด ทำให้สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
อย่างไรก็ตามในส่วนของลีสซิ่งกสิกรไทย ได้วางแนวทางการดำเนินงานเชิงรุกด้วยกลยุทธ์เปิดตลาดหรือเพิ่มช่องทางการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ด้วยการสร้างพันธมิตรหลักกับค่ายรถยนต์หน้าใหม่หลากหลายแบรนด์ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการเป็น Captive Finance กับแบรนด์รถยนต์ต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัท
นอกจากนี้ยังคงนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษที่ตรงใจกลุ่มลูกค้าและร่วมจัดกิจกรรมกับคู่ค้าพันธมิตรตลอดทั้งปีอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มช่องทางการติดต่อพร้อมเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ จากลีสซิ่งกสิกรไทย ผ่านช่องทางดิจิตอล คือ KLeasing on Mobile Application ที่จะช่วยให้การใช้สินเชื่อรถยนต์ของลูกค้าเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวกสบาย พร้อมรับสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรร้านค้าต่างๆ อีกด้วย
นายสุรัตน์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้อาจจะหดตัวได้ถึง 15% หรือมาที่ประมาณ 750,000 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 881,883 คัน แต่อาจมีปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ได้แก่ งานมอเตอร์ เอ็กซ์โปช่วงปลายปี และแรงหนุนจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตในปีหน้าที่จะช่วยเร่งให้มีการตัดสินใจซื้อรถยนต์เร็วขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานของลีสซิ่งกสิกรไทย ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทยังคงปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและเศรษฐกิจ โดยสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 44,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 2.82% หรือราว 1,233 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ 22,031 ล้านบาท ลดลง 9.14% และเป็นสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) 22,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 17.71%
ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างในระบบ (Loan Outstanding) ของบริษัท อยู่ที่ 86,460 ล้านบาท ลดลง 1,548 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 57 หรือลดลง 1.76% โดยมีสัดส่วน NPL อยู่ที่ 1.54% อย่างไรก็ตามผลประกอบการไตรมาส 3/58 ของบริษัท ยังคงมีกำไรอยู่ที่ 496 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 23.79%