แต่เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการของธนาคารวีนาสยามจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้ และธนาคารกลางของเวียดนาม หรือ State Bank of the Vietnam (SBV) ไม่มีนโยบายจะต่อใบอนุญาตการประกอบกิจการธนาคารในรูปแบบนี้อีก แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะมีโอกาสขยายกิจการในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต่อไป จึงได้หารือและขออนุญาตไปยังธนาคารกลาง เพื่อดำเนินกิจการในลักษณะเป็นสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารกลางของเวียดนามเห็นชอบ แต่มีเงื่อนไขให้ธนาคารฯ จะต้องเข้าซื้อและรับโอนส่วนของทุน (Charter Capital) จากผู้ร่วมทุนที่เหลืออีก 2 รายของ VSB มาเป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งหมด และให้รับโอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ VSB มายังสาขาของธนาคารฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ณ นครโฮจิมินห์ ด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัทหลักทรัพย์ BIDV ที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ 1 ใน 3 ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นผู้ประเมินราคา โดยราคาที่ธนาคารฯ จะซื้อจากผู้ร่วมทุน Agribank และ CP คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 45.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,650 ล้านบาท (คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 36.00 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นราคาที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลางเวียดนามแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการจัดตั้งสาขาของธนาคารฯ ณ นครโฮจิมินห์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2559
ทั้งนี้ ตามพรบ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และ พรบ. บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 จึงได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญ ผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 ขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เพื่อเสนอพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อกิจการธนาคารวีนาสยาม รวมทั้งรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของธนาคารวีนาสยาม มายังสาขาของธนาคารฯ ณ นครโฮจิมินห์ โดยผู้ถือหุ้นมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติสนับสนุนให้ธนาคารฯ ดำเนินการเข้าซื้อกิจการวีนาสยาม และดำเนินธุรกิจธนาคารในรูปแบบของสาขาต่อไป
สำหรับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินธุรกิจต่างประเทศของธนาคารฯ ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS: Greater Mekong Subregion) เนื่องจากมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากประเทศไทยในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่ม แม่น้ำโขง และมีอัตราการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน รวมถึงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงประมาณ 6% ต่อปี และถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมเทียบเคียงกับประเทศไทย
ธนาคารฯ เล็งเห็นว่า การจัดตั้งสาขาของธนาคารฯ ณ นครโฮจิมินห์ จะเพิ่มโอกาสที่ธนาคารฯ จะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม และคาดว่า ภายหลังจากที่ธนาคารฯ ได้จัดตั้งสาขาของธนาคารฯ เรียบร้อยแล้ว ธนาคารฯ จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนลูกค้าทั้งบริษัทไทย บริษัทเวียดนาม และบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ สาขาของธนาคารฯ ณ นครโฮจิมินห์ ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้ยังจะช่วยเพิ่ม ขีดความสามารถของธนาคารฯ ในการเชื่อมโยงเครือข่ายลูกค้าและกลุ่มบริษัทภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้เป็นอย่างดี โดยการจัดตั้งสาขาใหม่ในครั้งนี้จะทำให้ธนาคารฯ มีสาขาและสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 11 แห่งใน 8 ประเทศ