CEO คนใหม่กลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA)ปรับผังองค์กรใหม่ตั้งเป้านำบริษัทก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการในระดับอาเซียน ชูการเป็นผู้นำใน 4 HUBS สำคัญ ได้แก่ Logistic HUB, Industrial HUB, Utility and Power HUB และ Digital HUB พร้อมตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 10-20% และจะเพิ่มเป็น 40% ภายใน 10 ปี
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ ของ WHA กล่าวว่า หลังจากที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับแผนโครงการองค์กรใหม่ภายในของบริษัท เพื่อให้สอดรับกับแผนมาตรฐานการธุรกิจ ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำการให้บริการครบวงจรด้านการดำเนินธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์(Real Sector) ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน HEMRAJ ด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ หลักที่จะทำต่อไปหลังจากนี้ คือบริษัทจะยกมาตรฐานการทำธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการครบวงจรด้านการดำเนินธุรกิจ Real Sector โดยเบื้องต้นวางแผนจะเป็นศูนย์กลาง 4 HUBS ประกอบด้วย LOGISTIC HUB , INDUSTRIAL HUB , UTILITY & POWER HUB และ DIGITAL HUB ซึ่งจะเริ่มเห็นความชัดเจนในการเป็นศูนย์กลาง 4 HUBS ตั้งแต่ในปี 59 เป็นต้นไป
"เราตั้งเป้าหมายจะขยับขึ้นเป็นผู้ให้บริการด้าน Real Sector ในอาเซียน โดยมีกลยุทธ์หลักคือ การเป็นศูนย์กลาง 4 HUBS ภายหลังจากที่ทำคำเสนอซื้อ บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน แล้วเสร็จ และนำบริษัทดังกล่าวออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็จะเร่งปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ และมุ่งพัฒนาบุคลากร"นางสาวจรีพร กล่าว
นางสาวจรีพร กล่าวว่า สำหรับ LOGISTIC HUB และ INDUSTRIAL HUB บริษัทนับเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอยู่แล้ว และเมื่อรวมกับ HEMRAJ ก็จะทำให้มีสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ที่ดินรวมทั้งหมด 45,000 ไร่ ซึ่งคิดเป็นที่ดินคงเหลือ (Gross Land Area) กว่า 14,000 ไร่ เทียบเป็นที่ดินที่สามารถขายได้สุทธิ ( Net Land Area) ประมาณ 11,000 ไร่ โดยรองรับการทำธุรกิจนิคมฯได้ 6-7 ปี
ในส่วนของ UTILITY & POWER HUB เมื่อมีการรวมกับ HEMRAJ แล้ว บริษัทได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการขยายตัวของธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากน้ำและไฟฟ้า เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องใช้ จึงได้แยกหน่วยธุรกิจนี้มาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย รวมถึงมีแผนที่จะนำบริษัทย่อยดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในลำดับต่อไป
สำหรับ DIGITAL HUB นับเป็นธุรกิจแห่งอนาคตอย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุน Digital Economy และภาคเอกชนก็เริ่มเห็นถึงประโยชน์จากการใช้ดิจิตอลเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ คอนเซปต์ของการเป็น DIGITAL HUB นั้น คือการเสริมบริการด้าน Data Center ให้กับลูกค้าคอร์ปอเรท ของบริษัทฯ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่ำลง และมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 4 HUBS แล้วเสร็จ จะส่งผลให้บริษัทมีศักยภาพความแข็งแกร่งแล้ว ก็ตรงกับเป้าหมายที่บริษัท จะก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการด้าน Real Sector ในอาเซียน ทั้งนี้วางเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี จากนี้ WHA Group จะมีสัดส่วนรายจากต่างประเทศ 10 -20% และใน 10 ปี จะมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% ตามลำดับ
นางสาวจรีพร ยังกล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 59 ที่ระดับ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค, ธุรกิจโลจิสติกส์, ธุรกิจคลังสินค้าประเภท Built to Suit และธุรกิจดิจิตอล จะทำให้สัดส่วนรายได้ประจำ(recurring income) กับรายได้ที่ไม่ใช่ประจำ (non Recurring) เป็น 50:50
บริษัทตั้งเป้าหมายจะมียอดขายพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จรูป 200,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) นอกจากนี้ยังจะมีรายได้จากอินโดนีเซียที่บริษัทเข้าไปลงทุนตั้งคลังสินค้า คาดว่าจะทำให้มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเข้ามา 7-8% ส่วนธุรกิจดิจิตอลนั้น บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรายเพื่อตั้ง Data Center คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ในช่วงต้นปีหน้า ก่อนที่จะมีการสรุปแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่มในช่วงก.พ.-มี.ค.59
"ตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไป ภาพรวมธุรกิจของบริษัทจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงเมกะเทรนด์ของโลก สะท้อนภาพกระแสเงินลงทุนจะมีการขยายสู่เอเชียตะวันออกมากขึ้นจากการเป็นตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องจำนวนประชากร แนวโน้มการบริโภคของประชากร และการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ซึ่งทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางธุรกิจเกิดขึ้น และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ"นางสาวจรีพร กล่าว
นางสาวจรีพร กล่าวว่า บริษัทยังเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อนำบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นปี 59 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าเทรดได้ในช่วงไตรมาส 3-4/59 ซึ่งปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าบ้างแล้ว มีกำลังการผลิตราว 318 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และจะลงทุนเพิ่มเติมอีกราว 220 เมกะวัตต์ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคา (โซลาร์รูฟ)อีก 5 เมกะวัตต์ และมีพื้นที่หลังคาสามารถขยายเพิ่มเติมได้อีกเกือบ 200 เมกะวัตต์ แต่ต้องรอความชัดเจนจากการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงยังมีธุรกิจน้ำใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิราว 30-40%
ขณะที่บริษัทคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกราว 100 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศอยู่ถึง 10 ดีล ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 20-30 เมกะวัตต์ และขนาดใหญ่กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์
นางสาวจรีพร กล่าวว่า สำหรับในปีนี้บริษัทได้ปรับลดเป้ารายได้ปีนี้เหลือ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 1.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้เลื่อนขายสินทรัพย์ขายเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ของบมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) มูลค่า 7,000 ล้านบาท ออกไปเป็นช่วงไตรมาส 1/59 โดยปัจจุบันบริษัทยอดขายพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จรูปแล้ว 150,000 ตร.ม. ซึ่งคาดว่า ณ สิ้นปีจะมีพื้นที่คลังสินค้ารวมทั้งสิ้น 1.8-1.9 ล้านตร.ม.
"ปีนี้รายได้ของเราคงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เพราะเราได้มีการเลื่อนขายกองทุนออกไป ซึ่งจะทำให้ปี 59 รายได้จะเข้ามามากเป็นพิเศษ ซึ่งรายได้ที่เติบโตแบบไม่ปกตินี้จะเกิดขึ้นไปจนถึงปี 61 ก่อนที่รายได้จะกลับมาสู่ระดับปกติในช่วงปี 62 ซึ่งเราคาดว่ารายได้ก็คงจะอยู่ที่ระดับ 20,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเราคาดว่าจะสามารถกลับมาปันผลได้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป เนื่องจากช่วงนี้เราจะนำเงินที่ได้มาเพื่อชำระหนี้สถาบันทางการเงิน และเพื่อไปลงทุนขยายอย่างต่อเนื่องก่อน โดยคาดว่าปี 59 ระดับหนี้สินต่อทุน (D/E) จะลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า จากปัจจุบัรนอยู่ที่ 2.5 เท่า"นางสาวจรีพร กล่าว