นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ GOLD กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 แตะระดับ 2 หมื่นล้านบาท และขึ้นเป็น 1 ใน 5 ผู้นำเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย จากปีนี้ที่มีรายได้ 8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทวางแผนการพัฒนาและขายโครงการแนวราบ ประกอบกับการเปิดดำเนินการโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าโครงการใหม่ๆในอนาคตจะช่วยผลักดันรายได้ให้เติบโตขึ้นเป็นไปตามเป้าหมาย โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ค่าเช่าเพิ่มเป็น 40% จาก 20% ในปัจจุบัน ขณะที่รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 60% จากปัจจุบัน 80%
ส่วนผลประกอบการในปีนี้ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำรายได้แล้ว 5.67 พันล้านบาท ขณะที่สิ้นเดือน ก.ย.มียอดขายรอโอน (Backlog) 2.8 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้รวม 2.3 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 59
ในด้านกำไรสุทธิปีนี้มั่นใจว่าจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 371 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนทั้งปีที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 305 ล้านบาท พร้อมทั้งประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.05 บาท/หุ้น ซึ่งนับเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งแรกในรอบ 7 ปี อีกทั้งยังมีโอกาสจ่ายปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย ภายใต้นโยบายการจ่ายปันผลไม่เกิน 60% ของกำไรสุทธิ
นายธนพล กล่าวอีกว่า สำหรับการเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 685.70 ล้านหุ้นให้กับบริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ในราคาหุ้นละ 7.25 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดย้อนหลัง 30 วันเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาท/หุ้น โดยการที่ FPHT ยินดีที่จะซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดย้อนหลัง 30 วัน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของบริษัท
บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ในครั้งนี้ 4.97 พันล้านบาทในช่วงไม่เกินสิ้นปีนี้ หลังจากแผนการเพิ่มทุนดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 17 ธ.ค.58 บริษัทจะนำไปใช้ลงทุนในโครงการสามย่าน ตรงข้ามกับจามจุรีสแควร์ โดยโครงการเป็นรูปแบบการใช้ประโยชน์ผสมผสาน (Mixed-Use) ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทที่จะเข้าถือหุ้น 49% ร่วมกับบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด ถือหุ้น 51% โดยเป็นเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นราว 4 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวมที่ 8.5 พันล้านบาท เป็นการลงทุนของบริษัทราว 2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวจะต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง อีกทั้งรอผ่านการอนุมัติทำโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรอการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ด้วย โดยหากผ่านขั้นตอนต่างๆแล้วคาดว่าจะสามารถนำเงินไปลงทุนได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
"ถ้าเราไม่ได้เฟรเซอร์สมาซื้อ PP เราคงไม่ทำโครงการสามย่าน เพราะเรามีเงินทุนไม่มากพอ แม้ว่าจะเป็นการร่วมทุนก็ตาม"นายธนพล กล่าว
นายธนพล กล่าวว่า ส่วนเงินที่เหลือจากการเพิ่มทุนอีกราว 3 พันล้านบาทนั้น บริษัทจะนำเงิน 2 พันล้านบาทไปใช้สำหรับการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการแนวราบ และอีก 1 พันล้านบาทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน
ด้านการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ของบริษัท อยู่ระหว่างยื่นคำขอจัดตั้งกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยนำอาคารปาร์คเวนเจอร์และอาคารสาทร สแควร์จัดตั้งกอง REIT ขนาด 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะจัดตั้งได้ภายในต้นปี 59 บริษัทถือหุ้นในกอง REIT ในสัดส่วนไม่เกิน 30%
"จริงๆแล้วกอง REIT นี้ก็ขยับการขายไปหน่อย เพระว่าขั้นตอนต้องรอนิดหนึ่ง เราก็ไม่อยากไปเร่ง ก.ล.ต. อีกทั้งเราก็อยู่ระหว่างการประเมินราคาเสนอขายอยู่ด้วย แต่ก็มั่นใจว่าต้นปีหน้าคงขายได้แล้ว"นายธนพล กล่าว