กทค.พรุ่งนี้พิจารณาคำขอกสท.ปรับปรุงคลื่น 1800 MHz ส่วนที่เหลือถึงปี 68

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 9, 2015 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2558 ในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.58) มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่อง บมจ. กสทฯ ขอปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามที่มีหนังสือขอเข้าพบ กสทช. เพื่อหารือเรื่องการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในส่วนที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานและบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทคไม่ได้ใช้งาน

ทั้งนี้ บมจ. กสทฯ ยืนยันการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ขนาดความกว้าง 4.8 MHz ให้กับ กสทช. ตามนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และที่ประชุมคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อนำไปจัดประมูลร่วมกับคลื่นความถี่ที่สิ้นสุดสัมปทานไปแล้วจำนวน 25.2 MHz รวมจำนวน 30 MHz ซึ่งจะมีการจัดประมูลในวันที่ 11 พ.ย.58 แต่ก็มีเงื่อนไขต่อรองว่าจะขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ในส่วนที่ดีแทคไม่ได้ใช้งานอีกจำนวน 20 MHz โดยจะขอใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวไปจนถึงปี 68 ซึ่งหากไม่ได้ตามคำขอก็จะขอทวงสิทธิคลื่นจำนวน 4.8 MHz ดังกล่าวคืน

รายงานข่าวจาก กสทช.เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตว่าหนังสือที่ทางกระทรวงเทคโนโลยีฯ ส่งถึง กสทช. ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 นั้น ไม่มีการระบุเงื่อนไขในการคืนคลื่นดังกล่าวเพื่อนำไปจัดประมูล ดังนั้น ในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ทาง บมจ.กสทฯ ต้องเจรจาตกลงกับทางกระทรวงเทคโนโลยีฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะมาทวงสิทธิจากทาง กสทช.

ส่วนเจตนารมณ์การขอปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น ประเด็นที่ กทค. ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเป็นพิเศษคือเรื่องการขอใช้งานคลื่นความถี่จนถึงปี 68 เนื่องจากตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดให้ บมจ.กสทฯ จะต้องคืนคลื่นความถี่ในส่วนดังกล่าวกลับมาที่ กสทช.ทันทีที่สัญญาสัมปทานกับดีแทคสิ้นสุดลง ซึ่งก็คือในปี 61

นอกจากนี้ มีวาระเรื่องการใช้ทรัพย์สินของ บมจ.ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งทาง บมจ. ทีโอที มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 ต.ค.58 แจ้งให้ กสทช. ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายในกรณีที่ กสทช. กำหนดให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)หรือ เอไอเอส ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวมีการใช้ทรัพย์สิน ได้แก่ เครื่องและอุปกรณ์โครงข่ายของ บมจ. ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอม

ทั้งนี้ บมจ. ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ. เอไอเอส อ้างสิทธิว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 ซึ่งสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้ว สิทธิในการใช้ทรัพย์สินและอุปกรณ์ในระบบที่เอไอเอสจัดหาและใช้ประโยชน์ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับใช้ก็ได้สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้นการใช้ประโยชน์ใดๆ ในทรัพย์สินและอุปกรณ์ในระบบที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ. ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอม จึงถือเป็นการละเมิดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่คณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 900 MHz ของสำนักงาน กสทช.ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าวแล้ว เห็นว่า สิทธิในการใช้ทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ในเครื่องและอุปกรณ์โครงข่ายย่อมเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน ซึ่ง กสทช. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ตามสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด

หากแต่การที่ กสทช. กำหนดให้เอไอเอสต้องให้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ นั้น มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการ ซึ่งเป็นการคุ้มครองสาธารณะประโยชน์และคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยในช่วงเวลานี้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องนำรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนำส่งเป็นรายได้รัฐ

ดังนั้น บมจ. ทีโอที จึงเข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามประกาศเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้เตรียมนำความเห็นดังกล่าวของคณะทำงานฯ เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ด้วย

รายงานข่าวยังระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แม้ในระหว่างนี้จะมีการฟ้องคดีจาก บมจ. ทีโอที ไว้ที่ศาลปกครองในเรื่องประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตราบใดที่ศาลปกครองยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนกฎดังกล่าว ประกาศฉบับนี้จึงยังมีผลบังคับใช้ ดังนั้น บมจ.ทีโอที จึงไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศได้ และการที่เอไอเอสให้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวตามประกาศ จึงไม่ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินของ บมจ. ทีโอที

รวมทั้ง วาระเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จากที่ประชุม กทค. นัดพิเศษเมื่อวันที่ 2 พ.ย.58 มีมติเลื่อนวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จากที่เคยกำหนดวันประมูลไว้ในวันที่ 12 พ.ย.58 ไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.58 ทำให้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค.พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของเอไอเอส ภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ

แต่เดิมนั้นที่ประชุม กทค. เคยมีมติกำหนดวันหยุดให้บริการไว้เป็นวันที่ 19 พ.ย.58 ซึ่งเป็นวันที่ กทค. จะพิจารณารับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน นับจากวันสิ้นสุดการประมูล ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการเลื่อนวันจัดประมูลออกไป จึงคาดว่าจะมีการเลื่อนวันหยุดให้บริการออกไปเป็นวันที่ 22 ธ.ค.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ