ASIAN คาดกำไรทั้งปีพุ่งแตะ 160-200 ลบ.แง้มแผนปี 59 รุกอาหารพร้อมทาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 10, 2015 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด(ASIAN) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิสำหรับปี 58 ระหว่าง 160-200 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์ โดยเน้นแผนทั้งในกลุ่มธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ทูน่าบรรจุกระป๋อง อาหารสัตว์แบบเปียก อาหารสัตว์น้ำ ตลอดจนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในต้นปี 59
"จากการปรับตัวของ ASIAN ส่งผลให้ผลประกอบการทั้งรายได้ กำไร เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ปีนี้คาดว่าจะเห็นกำไร 160-200 ล้านบาทได้ และในอนาคตระยะ1-2 ปีข้างหน้าเราจะกลับมาเทิร์นอะราวน์ต่อเนื่อง"นายสมศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง ในปี 57 ASIAN ขาดทุนเท่ากับ 129.35 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.36 บาท ลดลงจากปี 56 ที่ขาดทุน 198.7 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.55 บาท

ASIAN แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/58 มีกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 50 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 270% ส่วนงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 30 ล้านบาทคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 123% ขณะที่ยอดขายไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 2,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ยอดขาย 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27% หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/58 ที่มีรายได้ 1,646 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 42%

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาแช่เยือกแข็ง ผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์แบบเปียก (Wet Pet food) ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อาหารสัตว์น้ำ ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น อยู่ที่ระดับ 11.3% รวมทั้งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า โดยมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 32 ล้านบาทในไตรมาส 3/58

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิต ขยายกำลังการผลิตใน ไปยังกลุ่มผลิตอาหารปลา ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก

“ตั้งแต่เกิดภาวะโรคตายด่วนในกุ้งเมื่อปี 56 ผลผลิตกุ้งในประเทศลดลงจากราว 600,000 ตันต่อปี ลงมาเหลือแค่ราว 200,000 ตัน ซึ่งส่งผลกระทบมากต่อบจก.เอเชี่ยน ฟีด ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ จนเมื่อเราตัดสินใจลงทุนขยายการผลิต เพิ่มเครื่องจักรเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารปลา ทำให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ในบจก.เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ธุรกิจผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋อง หนึ่งในบริษัทในเครือที่มียอดขายสูงที่สุดในกลุ่มตอนนี้ เราก็ลงทุนในเครื่องจักร ตลอดจนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายการผลิตไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก ซึ่งในปีนี้ยอดขายในกลุ่มนี้ขึ้นมาอยู่ในราว 50 % ของยอดขายรวมของบริษัท"นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นาย Rik Van Westendorp ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ASIAN กล่าวว่า วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทมีความหลากหลาย ซับซ้อนขึ้นมาก สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในวงกว้างและครบวงจร ASIAN กำลังก้าวพ้นจากการเป็นผู้รับจ้างบรรจุ หรือแพ็คเกอร์(packer) ไปเป็นผู้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ (co-developer) ซึ่งต้องการระบบการบริหารงานและโครงสร้างการบริหารที่ทันสมัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรในการปรับตัว

อย่างไรก็ตามภาพรวมอุตสาหกรรมมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการที่ต่างประเทศเข้ามามีผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลต่อประเด็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการปฏิบัติต่อแรงงานในอุตสาหกรรมประมง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งต่อภาคอุตสาหกรรมนี้ กลุ่มบริษัทมุ่งควบคุมคู่ค้า และกระบวนการภายในเพื่อให้มั่นใจได้ว่าปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องตามข้อเรียกร้อง หรือข้อกำหนดใหม่ ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยภาครัฐ ลูกค้า และนโยบายของกลุ่มบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ