นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BANPU กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านปู เพาเวอร์ มีสินทรัพย์กระจายตัวครอบคลุมหลายตลาดที่อุตสาหกรรมพลังงานมีการเติบโตสูง เช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศจีน และญี่ปุ่น โดยภายในปี 63 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,400 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุนจากทุกโครงการที่กำลังเดินหน้าตามแผน ซึ่งโครงการต่างๆ ในประเทศจีนจะมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวมเทียบเท่า 872 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในนานาประเทศให้ได้กำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 200 เมกะวัตต์อีกด้วย
"รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงขึ้นมากในช่วงปี 63-68 ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีสำหรับบ้านปู ในการจับมือผู้ร่วมทุนที่แข็งแกร่งเพื่อขยายธุรกิจให้โตขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่เรามีการดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวว่า ในภาวะปัจจุบันญี่ปุ่น นับเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก กำลังพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยลง และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าญี่ปุ่นก็จะเปิดเสรีตลาดพลังงาน บ้านปูฯซึ่งมีธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)ในญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว จึงอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในการต่อยอดกิจการ ขณะที่ธุรกิจโซล่าร์ฟาร์มจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้เร็ว สำหรับฟิลิปปินส์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีโอกาสเปิดกว้างสำหรับทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงดั้งเดิม เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีการขยายตัวของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ทั้งยังมีภาวะตลาดที่เอื้อต่อการแข่งขันและโปร่งใสอีกด้วย
โดยบริษัทยังคงปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีแม้ว่าในระยะ 2-3 ปีหลังนี้สภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะไม่เอื้ออำนวยนัก โดยบริษัทยังคงเดินหน้ากลยุทธ์การบริหารกระแสเงินสดให้แข็งแกร่ง และยึดนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ธุรกิจถ่านหินของบริษัทได้ดำเนินมาตรการลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกขั้นตอนอย่างแข็งขัน ทั้งการลดอัตราส่วนการขุดขนดินต่อถ่านหิน 1 ตัน (Strip Ratio) คุมเข้มการบริหารสินค้าคงคลังและระบบลอจิสติกส์ที่คล่องตัว เสริมด้วยกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และการตลาดโดยพัฒนาสินค้าถ่านหินคุณภาพสูงเจาะตลาดพรีเมี่ยมซึ่งได้ราคาดีกว่า ส่งผลให้อัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้นต่อยอดขายรวม (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน
โดยในไตรมาส 3/58 ธุรกิจถ่านหินในออสเตรเลียมีอัตรากำไรขั้นต้น 28% และธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียมีอัตรากำไรขั้นต้น 37% ขณะที่บริษัทคาดการณ์ว่าปริมาณการจำหน่ายถ่านหินตลอดปี 58 จากทั้งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และจีน รวมคิดเป็นประมาณ 46.2 ล้านตัน
"เรามุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นด้วยการบริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จ่ายปันผลต่อเนื่องและลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ ซึ่งธุรกิจไฟฟ้าทุกโครงการทั้งโรงไฟฟ้าหงสาในลาว โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน และโซล่าร์ฟาร์มในญี่ปุ่นล้วนคืบหน้าไปตามแผน ภายในงบประมาณที่กำหนด เรามั่นใจว่าการระดมทุน BPP ผ่านการเสนอขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้เรามีความพร้อมในการต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงในขั้นต่อๆ ไป"นางสมฤดี กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/58 BANPU มีผลขาดทุนสุทธิ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 72.27 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 134.93 ล้านบาท จากรายได้จากการขายลดลง 30% มาที่ 598 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลจากปริมาณขายที่ลดลงและราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณขายลดลง 17% มาที่ 10.33 ล้านตัน จากการลดลงของปริมาณการขายของเหมืองในออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลง 17% มาที่ 53.85 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ขณะที่ต้นทุนขายรวมลดลง 32% มาที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลจากปริมาณขายถ่านหินและต้นทุนเฉลี่ยต่อตันที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก ส่วนการรับรู้ผลกำไรของบริษัทร่วมและการร่วมค้า ลดลง 79% มาที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่ดลลง เพราะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโรงไฟฟ้าหงสาในลาวเพิ่มขึ้น จากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และยังรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจถ่านหินในจีนด้วย